การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา

การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา Ethnographic research

โดย ยรรยง สินธุ์งาม

ถ้าพูดถึงการวิจัย ผู้คนโดยทั่วไปจะนึกถึงภาพ ของ ตัวเลข และวิธีการทางสถิติ ที่ยุ่งยาก น่าปวดหัวซึ่งนั่นคือ การวิจัยในเชิงปริมาณ (Quantitative research ) ที่มุ่งนับจำนวน เป็นสถิติ เพื่อจุดมุ่งหมายไปสู่การอนุมาน ( Inference ) ศึกษาแนวโน้ม( Trend ) ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ให้ข้อมูล เพื่ออธิบายไปถึงประชากรทั้งหมด บางครั้งไม่มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคม ทำให้ ตอบปัญหา ที่แท้จริงไม่ได้ครบถ้วนไม่ตรงจุด จึงทำให้แก้ปัญหาในสังคมไม่ได้ เช่น ปัญหานักศึกษาขายตัว ปัญหานักเรียนยกพวกตีกัน จากตัวอย่าง

การนำเอาวิธีการทางสถิติไปศึกษาในเรื่องดังกล่าว คงไม่ได้ คำตอบที่แท้จริง จึงทำให้มี การวิจัยเชิงคุณภาพ เกิดขึ้น ที่ผ่านมา การวิจัยเชิงคุณภาพ ( Qualitative research ) เป็นเพียงวิธีการชายขอบ (Marginal method) ที่ถูกมองว่า ไม่ค่อยมีความสำคัญ จนมาถึงยุคปัจจุบัน การวิจัยเชิงคุณภาพ กลับเป็นแนวทางการวิจัยที่ท้าทายและมีความสำคัญยิ่ง ต่อทาง สังคมศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ จิตวิทยาสังคม ศึกษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ทางด้านธุรกิจ และการพัฒนาต่างๆ เพราะการวิจัยเชิงคุณภาพ มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรม รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์ ของสิ่งนั้น ในบริบทที่เป็นธรรมชาติ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข ของสถานการณ์ และกาลเวลา การตีความ (Interpretation) เป็นไปเพื่อทำความเข้าใจ ผู้คนและชุมชน ในสถานการณ์ นั้นๆ

การวิจัยเชิงคุณภาพ มองคน (ผู้ให้ข้อมูล) ว่า เป็น “คน” ไม่ได้มองว่าเป็น “ตัวเลข” หรือ เป็น “ข้อมูล”จึงให้ความสำคัญ ผู้ที่ถูกศึกษา ยอมรับ อัตวิสัย (Subjectivity) ของผู้ที่ถูกศึกษาว่ามีความหมาย (Meaning)

มีผู้ให้ความหมาย การวิจัยเชิงคุณภาพ ไว้ว่า เป็นกระบวนการค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์ ให้ความสำคัญ ในเรื่องการตีความหมาย มุ่งทำความเข้าใจกระบวนการสร้าง และการดำรงบริบทนั้นไว้ ในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ วิธีการศึกษาที่มักนำมาใช้กับสังคมมนุษย์ วิธีการหนึ่งก็คือ การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา

(Ethnographic research) ชาติพันธุ์วรรณนา คืออะไร

ชาติพันธุ์วรรณนา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ สังคม วัฒนธรรม ขนบประเพณี วิถีชีวิตของกลุ่มคนในสังคม

ชาติพันธุ์วรรณนา ตรงกับ คำในภาษาอังกฤษ ว่า Ethnographic พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย

ให้ความหมายไว้ว่า “ สาขาหนึ่งของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ที่มุ่งพินิจศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ เชิงพรรณนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมของชน ในระดับดั้งเดิม ”

ชาติพันธุ์วรรณา เป็นวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มุ่งการพรรณา การตีความหมาย ของกลุ่มคน รวมถึงระบบทางสังคม หรือทางวัฒนธรรม ที่ผู้ศึกษา มีจุดมุ่งหมาย เพื่อทำความเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรม ขนบประเพณี รวมไปถึงวิถีชีวิต ของกลุ่มคนในสังคมนั้น

ถ้าจะกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของ การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic research) ก็จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

& เป็นการวิจัย ที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าศึกษาหาข้อเท็จจริง โดยใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือหลัก ในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยปราศจากอคติ

& จะให้ความคิดเห็นของ ผู้ที่ให้ข้อมู (Key informants) เป็นสำคัญ

& ดำเนินการวิจัยแบบอุปนัย (Inductive research) คือการศึกษาวิจัยที่เริ่มต้นจาก สิ่งที่จำเพาะเจาะจง เพื่อโยงไปสู่ สิ่งอื่นที่มีอยู่ทั่วไป

& เป็นการสร้างองค์ความรู้ หรือ ทฤษฎี ขึ้นมาจากท้องถิ่น ที่ทำการศึกษา (Grounded theory) เพื่อทำการทดสอบปรับปรุง พัฒนา ให้เหมาะสมเพื่อใช้ภายในท้องถิ่นและในที่อื่นๆ

& ใช้เครื่องมือ ที่ออกแบบมาเก็บข้อมูล กับคน ได้ทุกประเภท

& เลือกกลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการศึกษา แบบเจาะจง

& มีการออกแบบการวิจัย ที่ยืดหยุ่น สามารถปรับได้ตามสภาพความจำเป็น

เทคนิควิธีที่ใช้เก็บข้อมูล มีหลายแบบ

1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant observation) มีตัวผู้วิจัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูล

2. การสัมภาษณ์เชิงลึก (Deep interview ) การสัมภาษณ์ จะไม่มีโครงสร้าง มีลักษณะเป็นการสื่อสาร สองทาง (Two-way communication) ผู้สัมภาษณ์ต้องใช้ศิลปะและความมีมนุษยสัมพันธ์ อย่างสูง เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ มีความกระตือรือร้น ที่อยากจะเล่าเรื่องราว โดยไม่ปิดบัง และเป็นไปอย่างมีความสุข

3. การวิเคราะห์เอกสาร บันทึกต่างๆ

การเลือกกลุ่มตัวอย่าง เพื่อใช้ในการศึกษา แม้จะเป็นกลุ่มที่เฉพาะเจาะจง ก็ควรเลือกกลุ่ม ที่สามารถให้ข้อมูลได้หลากหลาย ทั้งข้อมูลที่ขัดแย้งและข้อมูลที่สนับสนุน แนวคิดการวิจัย ควรใช้การพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้ร่วมด้วย ก่อนการตัดสินใจเลือกกลุ่มตัวอย่าง คือ คำถามในการวิจัย ที่ต้องการหาคำตอบ จุดมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ กรอบแนวคิด ทฤษฎี ที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยต้องรู้จักข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับประชากรเป้าหมายในการศึกษา โดยอาจจะค้นหาข้อมูลจาก เอกสาร วารสาร รายงานการวิจัย สิ่งพิมพ์ต่างๆ จากหน่วยงานราชการ การสนทนากับผู้รู้ หรือ การเข้าไปติดต่อหาข้อมูลเบื้องต้น จากประชากร ในแหล่งข้อมูล ที่อยู่ในขอบข่ายที่เราสนใจ

วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ควรใช้เมื่อใด

วิธีวิจัยทุกอย่าง ต่างมีขอบข่ายที่เหมาะสมกับลักษณะของตัวมันเอง แตกต่างกันไป เพื่อให้ทราบถึง สถานการณ์ที่เหมาะสม ในการใช้ วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ขอเสนอแนะ เพื่อการพิจารณา ก่อนเลือกใช้วิธีวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ดังนี้

& เมื่อต้องการหาความรู้ใหม่ๆ หรือ ความรู้ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เกี่ยวกับกลุ่มชนใดๆ หรือมีการศึกษาในเรื่องดังกล่าว แต่มีข้อมูลจำกัด โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ที่มีต่อสถาบันสังคม

& เมื่อต้องการหาคำอธิบาย พฤติกรรม เหตุการณ์ รวมทั้งปรากฏการณ์ ที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ หรือ คำอธิบายดั้งเดิมที่มีอยู่ ไม่กระจ่างชัด เช่น ปรากฏการณ์ ทำไมการขายเสียง จึงยังคงเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้

& ใช้ร่วมกับการวิจัยเชิงปริมาณ ในลักษณะดังนี้ หนึ่ง ใช้ก่อนที่จะเริ่มการสำรวจ เพื่อหาประเด็นที่จะนำมาตั้งเป็นคำถามการวิจัย ตั้งสมมุติฐาน หรือหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนการสร้างแบบสอบถามต่างๆ เพื่อใช้ในการสำรวจ สอง ใช้เมื่อหลังการสำรวจ พบประเด็นปัญหาที่ยังไม่กระจ่างชัด ไม่สามารถอธิบายได้ ด้วย ข้อมูลเชิงปริมาณที่มีอยู่ และ สาม ใช้ควบคู่กับการวิจัยเชิงปริมาณ ในประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจในระดับลึก

& เมื่อต้องการประเมินผลของโครงการต่างๆ เช่น ผลกระทบของนโยบายสาธารณะต่อการศึกษาความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายต่อโครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น

ข้อจำกัดของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เมื่อการใช้งานมีขอบเขต การศึกษาด้วยวิธีการดังกล่าวก็ต้องมีข้อจำกัด ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องทราบเอาไว้เพื่อหาวิธีการปรับลด ข้อจำกัดหรือช่องว่าง ดังกล่าว เพื่อการวิจัยเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

& ผู้วิจัยต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่อง มานุษยวิทยาวัฒนธรรม อันเป็นวิชาที่ว่าด้วย พฤติกรรมทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ต้องรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาทางสังคม

& ผู้วิจัยต้องทุ่มเทเวลาในการวิจัย เป็นเวลานาน อาจใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือมากกว่านั้น ในการเข้าไป ฝังตัว (Burrow) เก็บข้อมูลในชุมชน เป็นการทำงานที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวในภาคสนาม

& วิเคราะห์ข้อมูลยาก เนื่องมาจากมีข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งปริมาณและชนิดของข้อมูล นักวิจัยต้องอาศัยระยะเวลาและความเข้าใจ เพื่อ กลั่นกรอง ข้อมูลเหล่านั้นในการวิเคราะห์และการตีความ

& ยังขาดเทคโนโลยี ที่เป็นเครื่องมือ เข้ามาช่วยจัดการข้อมูล เนื่องจาก เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงไม่สามารถเข้าช่วยแบ่งเบาภาระงานส่วนนี้ได้ ผู้วิจัยต้องใช้ ความคิด สติปัญญา ประสบการณ์ของตนอย่างเต็มความสามารถ

วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มคน ที่สามารถนำไปใช้ในหลายสาขาวิชา อาทิเช่น ศึกษาศาสตร์ สังคมวิทยา สุขภาพอนามัย เศรษฐศาสตร์ ค่านิยม ความเชื่อขนบประเพณีต่างๆ ผู้วิจัยจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางวัฒนธรรม ในการอธิบายและตีความผลของการวิจัย ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วม โดยมีตัวผู้วิจัย เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญ ในการเก็บข้อมูล และยังสามารถเก็บข้อมูลได้หลายแบบ เพื่อสร้างความถูกต้อง ความตรงประเด็นในเรื่องที่ศึกษา และความน่าเชื่อถือ ของผลการศึกษา วิธีการวิจัยนี้ เหมาะในการแสวงหาความรู้ประเด็นใหม่ๆ หรือ ความรู้ที่ยังมีข้อมูลจำกัด เกี่ยวกับ กลุ่มทางสังคมและวัฒนธรรม ที่เรายังไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประเมินโครงการต่างๆ ได้อย่างหยั่งลึก

แม้มีข้อจำกัดของการวิจัย อยู่ตรงที่ ต้องใช้เวลามาก ในการเก็บข้อมูลภาคสนาม ความยุ่งยากในการวิเคราะห์และตีความ ของผลการศึกษา แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ ท้าทาย ให้นักวิจัยยุคใหม่ แสวงหาองค์ความรู้ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม ตรงตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น.

……………………………………………………….

เอกสารอ้างอิง

ชาย โพสิตา. ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ. อมรินทร์พริ้นติ้ง : 2549.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ ไทย. กรุงเทพฯ. ราชบัณฑิตยสถาน : 2543.

สุภางค์ จันทวนิช. การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 2542.

Adkinson, P. and Hammersley, M. Ethnography and Participant Observation. In N. K. Denzin and Y.S. Lincoln (Eds.), 1994.

Boyle, J.S. Styles of Ethnography. In J.M. Morse(Ed.), 1994.

Jessor, R. Ethnographic Methods in Contemporary Perspective. Chicago : University of Chicago Press, 1996.

จาก......... http://www.fridaycollege.org/blog.php?obj=blog.view(98)&PHPSESSID=061b90b88f9449fd9aa828e28a5cc1c6

Sunday, December 17, 2006

ชายขอบนิยม

ชายขอบนิยม

บัณฑิต ปิยะศิลป์ -

กระแสโลกาภิวัฒน์ได้สร้างพื้นที่ชายขอบและชุมชนชายขอบขึ้นมาในวัฒนธรรมโลกสมัยใหม่ (สุริยา สมุทคุปติ์และพัฒนา กิติอาษา , 2542) แนวคิดหลังสมัยนิยมทำให้เกิดแนวคิดชายขอบนิยม (Margilism) ให้ความสนใจที่จะศึกษาแนวคิดชายขอบนิยม ภาวะชายขอบนิยมเกิดจากการพัฒนาไม่ได้ขึ้นโดยธรรมชาติ โดยขั้นตอนของการพัฒนาในโลกแบ่งเป็นลำดับดังนี้ ความทันสมัยในยุโรป (การปฎิวัติอุตสหกรรม ) เกิดลัทธิอาณานิคม ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดรัฐชาติสมัยใหม่ ( ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมออกมาเรียกร้องเอกราช) การพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมและกระแสโลกาภิวัฒน์ ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่การเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่จะตกอยู่ส่วนกลางหรือคนบางกลุ่ม ส่วนคนจนที่อยู่ในเมืองและชนบทจะถูกกีดกันให้ออกไปอยู่ข้างนอกระบบในกระบวนการพัฒนาหรือชายขอบ (Marginalized ) ภาวะชายขอบเพิ่มมากขึ้น เพราะกระแสโลกาภิวัฒน์ในโลกปัจจุบันสูงขึ้นเช่นกัน

แนวคิดหลังทันสมัยนิยมที่ให้ความสนใจศึกษาส่วนเล็ก ๆ ในสังคม จึงหันมาให้ความสนใจผู้ที่เป็นชายขอบ เป็นคนกลุ่มน้อยและเป็นคนด้อยโอกาสในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธุ์กลุ่มน้อย คนพิการ ผู้ติดเชื้อเอดส์ พวกรักร่วมเพศ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกับการศึกษาสังคมในยุคทันสมัยนิยมที่ให้ความสำคัญในการศึกษาโครงสร้างสังคมขนาดใหญ่ ภาวะความเป็นชายขอบ พื้นที่หรือคนชายขอบจะมีสภาพเลื่อนไหลตามแนวคิดของแนวคิดหลังทันสมัยนิยม มีการทับซ้อนและหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยึดอะไรเป็นศูนย์กลางในการนิยามภาวะชอบขอบ อะไรเป็นประเด็นปัญหาหลักที่เราจะมอง เมื่อเรามองภาวะชายขอบจากปัญหา ปัจจัยหรือจากสังคมหนึ่ง คนที่เป็นชายขอบอาจจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเรามองจากปัญหา ปัจจัยหรือจากสังคมอีกสังคมหนึ่ง กลุ่มคนที่เป็นชายขอบก็ย่อมเปลี่ยนไป ไม่มีความคงที่แน่นอน

ท้องถิ่นนิยม

ท้องถิ่นนิยมมีความหมายใกล้เคียงกับชุมชนหรือชุมชนนิยม ซึ่งในที่นี้หมายถึง พันธะผูกพันทางอารมณ์ที่มนุษย์ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับกลุ่มมีต่อถิ่นที่อยู่อาศัย ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณี สัญลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของตนเอง หรืออุดมการณ์ ความคิด ความรู้และปฏิบัติการทางสังคมใด ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นจากภายในและภายนอก เพื่อที่จะดิ้นรนต่อรอง ท้าทางและหาทางออกให้กับท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น ซึ่งอาจจะแสดงออกมาโดยการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน ดังนั้น ท้องถิ่นไม่ได้มีความหมายเพียงหน่วยในการตั้งถิ่นฐาน ตามที่ตั้งตามเขตการปกครองเท่านั้น ท้องถิ่นต่าง ๆ มีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เป็น ?ชุมทางวาทกรรม? หรือ juncture of discourses (พัฒนา กิติอาษา, 2543) ที่เป็นผลผลิตของปฏิสัมพันธ์ และพลวัตรระหว่างผู้คนในท้องถิ่นกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น ธรรมชาติ เพื่อนบ้าน ระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ร่วมถึงค่านิยม ความเชื่อ กระแสโลกาภิวัฒน์ เป็นต้น ซึ่งกระแสโลกาภิวัฒน์มีส่วนผลักดันให้ผู้คนเริ่มหันกลับมามองวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ของตนมากขึ้น เพื่อตอบโต้อำนาจและการครอบงำของกระแสโลกาภิวัฒน์

ท้องถิ่นนิยมตามแนวคิดหลังสมัยนิยม มองว่าเป็นตัวแทนของความเป็นจริงที่ซับซ้อน ลื่นไหวและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น ซึ่งมีประโยชน์ในการวิเคราะห์และการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคม สามารถช่วยให้เราอธิบายความสัมพันธ์ จุดเริ่มต้นและความแตกต่างหลากหลายทางทางปรากฏการณ์ทางสังคม แนวคิดหลังทันสมัยนิยมให้ความสำคัญกับการศึกษาที่เน้นท้องถิ่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ยังไม่มีใครศึกษา รวมถึงท้องถิ่นที่มีลักษณะพิเศษ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการศึกษาทางสังคม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มแนวคิดทันสมัยนิยมไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะกลุ่มท้องถิ่นนิยมเป็นพื้นที่การศึกษาที่มีขนาดเล็ก การศึกษาดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยมอีกทางหนึ่ง

จากแนวคิดทั้ง 3 แนวทาง ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ชายขอบนิยมและท้องถิ่นนิยม การศึกษาของแนวคิดหลังทันสมัยนิยมเป็นการศึกษาที่มองถึงผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์ต่อสังคม ซึ่งทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่แนวคิดทันสมัยนิยมเน้นการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเหมือนกับว่ามีความต้องการที่จะให้สังคมพัฒนาไปเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ เป็นสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน (ผู้เขียน)

การประยุกต์ใช้แนวคิดทั้งสามในการวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ชายขอบนิยมและท้องถิ่นนิยม เป็นแนวคิดที่เกิดจากแนวคิดหลังทันสมัยนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต้องการให้นักวิชาการ นักพัฒนา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานั้น (คนชายขอบ) แนวคิดชายขอบนิยมและท้องถิ่นนิยมเป็นการสะท้อนให้เราเห็นปัญหาการพัฒนาประเทศ ที่เน้นการพัฒนาแบบกระแสของประเทศตะวัน คือกระแสโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาประเทศตามแนวคิดดังกล่าวไม่ได้ทำให้การพัฒนาประเทศไทยมีความเสมอภาค แต่การพัฒนาดังกล่าวกลับทำให้เกิดกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสในการพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก หรือกลุ่มคนที่ถูกผลักออกจากระบบการพัฒนากลายเป็นคนชายขอบในที่สุด

การใช้แนวคิดทั้งสามเพื่อใช้ในการพัฒนาสังคม ก็คือการนำไปศึกษาถึงผลกระทบจากการพัฒนาสังคมจากนโยบายของรัฐ ว่าได้ส่งผลให้เกิดภาวะของความเป็นชายขอบต่อคนในสังคมใดบ้าง รวมทั้งการพัฒนาตามนโยบายของรัฐดังกล่าวทำให้ ความเป็นท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เมื่อกลุ่มคนที่เป็นชายขอบเหล่านั้นได้รับผลกระทบเขาได้พยายามเอาตัวรอดหรือพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองใหม่หรือไม่ และการพยายามต่อสู้ของท้องถิ่นเพื่อให้ความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นกลับคืนมา หรือการพยายามสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในการพัฒนาตนเอง ซึ่งแนวคิดทั้งสามจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดแนวคิดการพัฒนาแบบว่าส่วนร่วมมากขึ้น เปลี่ยนการพัฒนาจากการพัฒนาแบบ top down เป็นการพัฒนาจากชุมชน จากกลุ่มคนที่ควรจะได้รับการพัฒนา เมื่อเกิดการพัฒนาในท้องถิ่นก็จะทำให้การพัฒนานั้นกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

จากhttp://www. thaingo.org

Tuesday, November 28, 2006

คิดและทำเชิงซับซ้อน

1.กล่าวนำ

ทฤษฎีไร้ระเบียบและทฤษฎีซับซ้อน เป็นการศึกษาถึงกระบวนระบบพลวัต ที่ข้ามพ้นขีดจำกัดของโลกทรรศน์เชิงเส้นและการอ้างเหตุผลเชิงเดี่ยว โดยภาวะโกลาหลจะเป็นตัวแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในเชิงโครงสร้างที่ถักทอสัมพันธ์กันก่อภาวะการผุดบังเกิดที่ปราศจากความสัมพันธ์ที่เรียบง่ายที่ไม่อาจอธิบายโดยโลกทรรศน์ดังกล่าว แต่เป็นกระบวนการที่เป็นพลวัตและสัมพันธ์หลายลำดับชั้น ส่วนภาวะซับซ้อนคือความพยายามที่จะศึกษาเข้าใจโครงสร้างที่ถักทอสัมพันธ์อย่างเป็นพลวัตมีแบบแผนของการผุดบังเกิดที่สามารถทำความเข้าใจให้ง่ายขึ้นได้อย่างไร

ทั้งทฤษฎีไร้ระเบียบและทฤษฎีซับซ้อน ผสานกับศาสตร์ของการสื่อสารและผลของการปฏิสัมพันธ์จากการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารในยุคสารสนเทศ ได้กลายเป็นวิธีการศึกษาสืบค้นและงานวิจัยที่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดที่ในอดีตไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นแก่มนุษยชาติ ก่อเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ ๆ เปิดทางแก่มนุษยชาติข้ามพ้นขีดจำกัดจากกรอบความคิดเดิม ๆ ที่เป็นภาวะสถิตและกลไก อนาคตข้างหน้านี้ คือความท้าทายของมวลมนุษยชาติ ที่ทุกอย่างขับเคลื่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤต จักมีความสามารถข้ามผ่านเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์สืบไปได้หรือไม่ การผสานของศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสหวิทยาการ อำนวยแก่การเข้าใจโลกซับซ้อนและเป็นแสงส่องทางแก่การเข้าถึงวิถีชีวิตจริง และเผชิญหน้ากับความท้าทาย ที่เกิดขึ้นจากอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการเปลี่ยนผ่านด้วย

ในยุคของข่าวสาร โลกขับเคลื่อนเข้าสู่สถานะใหม่ที่โครงสร้างความสัมพันธ์ในระบบปิดได้ถูกทะลายลง ด้วยศักยภาพของการสื่อสารที่ข้ามมิติของเวลา สถานที่ และมิติทางด้านภาษา เป็นเรื่องโชคไม่ดีเลย ที่องค์ความรู้ เค้าโครงของมรรควิธีในการแก้ปัญหา ทั้งในบริบทของการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่เดินในวังวนที่เป็นกับดักมรณะ มีการสร้างสรรค์ใหม่ๆ จำกัดเหลือเกิน ก่อภาวะการกัดกร่อนและทำลายตนเองและสภาพแวดล้อม จนเป็นภาวะที่หมิ่นเหม่ และเป็นเรื่องที่โชคร้าย ที่กฎหรือทฤษฎีที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อย่างเช่น หลักการองค์รวมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบ ที่ถูกนำมาเผยแพร่ เกิดเป็นวาทกรรม “คิดอย่างเป็นองค์รวม” และ “คิดอย่างเชื่อมโยง” ก็มีลักษณะสองแง่สองง่ามที่ขัดกันอยู่ในที ไม่สามารถให้ความกระจ่างในเค้าโครงของมรรควิธีที่จะเชื่อมโยงกับการมองไปข้างหน้าได้สายโซ่ความสัมพันธ์ของภาวะโกลาหลที่ซับซ้อน สู่การผุดบังเกิดระบบใหม่ ที่มองผ่านกระบวนการจัดระเบียบตนเอง ก่อเกิดแบบแผนของการผุดบังเกิด การสื่อสารและการจัดองค์กร คือ กระบวนการเรียนรู้ถึงแบบแผนของการก่อความสัมพันธ์จากความเปลี่ยนแปลงและการคัดสรร สู่ทัศนียภาพที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงแต่ผละออกจากวังวนการแก้ปัญหาที่ไม่อาจแก้ เป็นกระบวนการจัดระเบียบตนเองใหม่ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ที่ไม่มีกรอบของ “ความจริง” และ “ความดีสูงสุด” เป็นแรงเสียดทานจากความขัดแย้งและการอ้างความชอบธรรมจากหลักการแห่งเหตุผล

2. มุมมอง พลวัตกระบวนระบบซับซ้อน

2.1 คุณสมบัติระบบซับซ้อนในโครงสร้างของระบบเปิด มีองค์ประกอบเป็นจำนวนมากที่เป็นอิสระ การปฏิสัมพันธ์ต่อกันขององค์ประกอบเหล่านั้น สามารถก่อเกิดผลที่ตามมาได้อย่างหลากหลาย ก่อเป็นภาวะซับซ้อนที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยกฎเกณฑ์พื้นฐานเพียงกฎเดียว และก็ไม่อาจทำความเข้าใจได้ด้วยการแยกผลที่เกิดขึ้นออกเป็นส่วนย่อย เพื่อการวิเคราะห์รายละเอียด แล้วมองหาผลรวมของมัน นัยหนึ่งเราอาจบอกว่า ระบบซับซ้อน ก็คือ ผลของการปฏิสัมพันธ์นั่นเอง และผลของการปฏิสัมพันธ์นี้ มีคุณสมบัติเด่นชัด คือ

2.1.1 กระบวนการจัดระเบียบตนเอง วิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของการดำรงอยู่และพัฒนา ในกระบวนการการเปลี่ยนแปลงนั้น ปฎิสัมพันธ์ที่มีต่อกันขององค์ประกอบย่อย และกับสภาพแวดล้อม และผลสะท้อนกลับ จากการแปรเปลี่ยนและคัดสรรโดยอัตโนมัติโน้มเข้าหาแอ่งดึงดูด เพื่อก่อระเบียบขึ้นใหม่ โดยเนื้อแท้แล้วการจัดระเบียบตนเองของโครงสร้างระบบเกิดขึ้น โดยปราศจากการกำกับหรือการเกี่ยวข้องจากการกำหนดจากภายนอกระบบ แต่เป็นผลพวงภายในระบบ จากการปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในและเป็นองค์ประกอบที่เป็นอิสระ

บทบาทของการสื่อสารในยุคของข้อมูลข่าวสาร และพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่สามารถกระทำได้ข้ามขีดจำกัดของเวลา สถานที่และภาษา นอกจากการสื่อสารที่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของวิถีชีวิต การสื่อสารยังเป็นสื่อกลางและสะท้อนความแตกต่างหลากหลายในพฤติกรรม เปิดโอกาสให้แก่ความสามารถมีทางเลือกในการก่อระเบียบ ที่มีมากกว่าทางเลือกในอดีต ที่ถูกกำหนดอัตตลักษณ์ภายใต้กรอบของ ชาติ (กฎหมาย) ศาสนาและวัฒนธรรม และ/หรือความสัมพันธ์เชิงกายภาพ ดังนั้น เราจึงเห็นว่า ต่อคำถามว่า ชีวิตคืออะไร คำสอนภายใต้กรอบอัตตลักษณ์ดังกล่าวไม่เพียงพอ ต่อการรักษาระเบียบ (การอยู่ร่วมกัน) เดิมที่มีอยู่ให้จีรัง หรือการย้อนกลับไปสู่การรักษาสถานภาพเดิมไว้ได้อีก ในเมื่อโลกในศตวรรษที่ 21 ศักยภาพของการสื่อสารนอกจากข้ามพ้นมิติดังกล่าว ยังได้สร้างสรรค์ความสัมพันธ์เสมือนจริงขึ้นอีกด้วย ภายใต้เงื่อนไขของการสื่อสาร ที่สามารถก่อทางเลือกได้นับไม่ถ้วนนี้ ทิศทางเปลี่ยนแปลงของการก่อระเบียบ จึงไม่ใช่/และไม่ควรเป็นทางเลือก ที่ถูกกำหนดจากภายนอกเพียงทางใดทางหนึ่ง การค้นพบการก่อระเบียบด้วยตัวเอง จึงได้กลายมาเป็นกระแสที่แทนที่และรับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ละออกจากการแก้ปัญหา ที่ไม่อาจแก้ไขได้ในกรอบของโครงสร้างที่สมมุติ ยังเป็นทิศทางที่ยั่งยืนและเปิดโอกาสแก่ความแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

2.1.2 การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เชิงเส้น ในโครงสร้างระบบปิด ที่สามารถควบคุม และ/หรือถูกจำกัดด้วยการสื่อสาร ชีวิตแบบรวมหมู่เพื่อการควบคุมดูจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม ภายใต้สังคมแบบรวมหมู่นี้ บรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องของความจำเป็น การใช้หลักเหตุผลเพื่อการตัดสินใจ จึงเป็นเรื่องปรกติ แต่เมื่อโลกขับเคลื่อนเข้าสู่ภาวะซับซ้อน ที่มีโครงสร้างเป็นระบบเปิด ผลพวงของการผุดบังเกิด ไม่ใช่เรื่องของการอ้างเหตุผลอีกต่อไป องค์ประกอบจำนวนมากที่ปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีผลและทิศทางของมันอย่างนับไม่ถ้วน และการเปลี่ยนแปลงในระบบเพียงเล็กน้อย ที่ดูไม่สมเหตุสมผล ก็อาจสามารถก่อการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตได้ เมื่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงในระบบทั้งหลาย เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความรู้เชิงกลไกแห่งยุคอุตสาหกรรม การใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าว เป็นบรรทัดฐานในกระบวนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเช่นนี้ จึงกลายเป็นวังวนที่ติดในกับดักมรณะ ที่ไม่เพียงแต่ไม่สามารถแก้ปัญหา หากแต่ก่อปัญหาเพิ่มขึ้นอีก 2.1.3 ภาวะพลวัต สรรพสิ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากสภาวะไร้ระเบียบสู่สภาวะระเบียบ ทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างคืบคลานที่มองเห็นได้ไม่เด่นชัด และการเปลี่ยนแปลงอย่างกวัดแกว่งที่ชัดเจน ทั้งสภาวะไร้ระเบียบและสภาวะที่มีระเบียบ จึงล้วนเป็นสภาวะสัมพัทธ์ ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบซับซ้อนนั้น เป็นการเคลื่อนไหวในแบบสุ่ม ที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเชิงเส้น ดังนั้นจึงไม่อาจทำนายทิศทางได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถหยิบฉวยแบบแผนของการผุดบังเกิด ก่อพลังในการทำนายแนวโน้มได้2.1.4 การผุดบังเกิด เป็นผลพวงของการปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบ และ/หรือองค์รวมย่อยที่มีลักษณะแบบสุ่ม ดังนั้นโดยธรรมชาติแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำนายได้ เช่นเดียวกับผลของการผุดบังเกิดในระดับชั้นที่สูงกว่า ดังนั้นแล้วการศึกษาถึงระบบซับซ้อน จึงไม่อาจแยกศึกษาทีละส่วนจากองค์ประกอบ และ/หรือองค์รวมย่อย โดยทั่วไปไม่มีกฎที่ใช้อธิบายการผุดบังเกิด แต่เราอาจเห็นแนวโน้มของการผุดบังเกิด จากแบบแผนของพฤติกรรมได้2.1.5 โครงสร้างหลายระดับชั้น ผลพวงของการผุดบังเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูด ซึ่งไม่ได้มีเพียงแอ่งดึงดูดเดียวและทิศทางเดียว โครงสร้างความสัมพันธ์มากมายและหลายระดับชั้น อันเป็นที่มาของสภาวะซับซ้อน ที่เรียกว่ากับดักมรณะ จากการอาศัยระบบรวมศูนย์มาแก้ปัญหา มีนัยยะมาจากโครงสร้างหลายระดับชั้นนี้นั่นเอง ความหมายคือ ความแตกต่างหลากหลายมีโดยทั่วไป ส่วนเอกภาพนั้น ในแต่ละระดับชั้นที่เกิดขึ้นจากพลังแห่งการจัดระเบียบตนเองนั้น เป็นเอกภาพที่ก่อความแตกต่างหลากหลายในระบบใหญ่ นัยยะของการก่อเครือข่ายก็คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงในแต่ละเอกภาพในระบบย่อยนั่นเอง ส่วนระบบรวมศูนย์ และ/หรือระบบรวมหมู่นั้น เรียกร้องการมีเอกภาพที่เหมาคลุมเอาส่วนทั้งหมด ในยุคของความแตกต่างหลากหลายจากโครงสร้างกระจัดกระจาย การเรียกร้องหาเอกภาพในส่วนทั้งหมดนั้น จึงไม่แตกต่างจากความปรารถนาดีที่ก่ออาชญากรรมนั่นเอง 2.2 มุมมองระบบพลวัตซับซ้อนผ่านมุมมองระบบซับซ้อนดังกล่าว ในความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอัตราเร่ง การสื่อสารและผลพวงของมัน ที่ส่งผลต่อการก่อระเบียบในลำดับขั้นใหม่ กลายเป็นการค้นพบที่ช็อกผู้คน กฎเกณฑ์และความเชื่อ ที่เคยเป็นที่ยึดถือมานาน ถูกการเปลี่ยนผ่านนี้บดขยี้เป็นผุยผง กลายเป็นเรื่องของความไร้สาระ บางครั้งยากแก่การทำใจ ด้วยมุมมองของความคิดเชิงซับซ้อน ทำให้แลเห็นถึงการมาถึงของสิ่งใหม่ ที่ไม่มีร่องรอยของความต่อเนื่องกับอดีต บางสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างคืบคลาน บางสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน แต่ทั้งหมดไม่ได้มีทิศทางในระนาบเดียวกับสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ ด้วยมุมมองความคิดซับซ้อน อาจสามารถคลี่คลาย “กับดักวาทกรรม” ในชุดของคำอธิบายใหญ่เรื่องวาทกรรมสังคมเข้มแข็ง และความเพ้อฝันของการสร้างพลังแผ่นดิน

2.2.1 การค้นพบประการแรก คือการค้นพบว่า โครงสร้างระบบซับซ้อน อนาคตเป็นสิ่งไม่อาจทำนายและกำหนดได้ การค้นพบนี้นำไปสู่การดับฝันอำนาจรวมศูนย์ เป็นกระจกเงาให้แก่ผู้ที่หลงตัวว่า เป็นผู้นำที่มีความสามารถแก้ปัญหาองค์รวม (แต่มองปัญหาเชิงเส้น) ด้วยการผลิตวาทกรรมและสร้างพิมพ์เขียว นับเป็นเรื่องโชคไม่ดีเลย สำหรับความพยายามเช่นนั้น เพราะกล่าวสำหรับสิ่งที่มีชีวิตและสามารถคิดได้อย่างเช่น คน ในยุคศตวรรษที่ 21 ได้หลุดพ้นจากบ่วงบาศของการจองจำด้วยการรับสาร จากสื่อทางเดียว การสื่อสารที่ไม่มีขีดจำกัด ได้เปิดโอกาสแก่การเรียนรู้และมีความสามารถตื่นรู้ โดยใช้สิทธิอัตตวินิจฉัย เพื่อการกำหนดทัศนียภาพที่เหมาะสมกับตนเอง ในฐานะที่เป็นตัวกระทำ (ผู้เล่น) เข้าร่วมการปฏิสัมพันธ์กับตัวกระทำอื่นๆ และกับสภาพแวดล้อม ด้วยความเป็นอิสระอย่างไม่เคยรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับกลุ่มก้อนของการรวมหมู่ ที่ผูกพันธนาการด้วยความสัมพันธ์ของชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม หรือการจองจำด้วยพันธนาการทางกายภาพ ภายใต้ตัวกระทำที่เป็นอิสระที่ปฏิสัมพันธ์กัน สามารถก่อระเบียบที่เป็นทางเลือกและมีความแตกต่างหลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยทิศทางที่ถูกกำหนดจากภายนอก ตัวกระทำที่เป็นอิสระปฏิสัมพันธ์กัน โดยเนื้อแท้แล้วคือสาระของระบบซับซ้อนนั่นเอง

ความซับซ้อนถึงแม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจทำนายและกำหนดได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการหยิบฉวยเอาแบบแผนของพฤติกรรม โดยการเพ่งพิจารณาในกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและเป็นพลวัตนี้ จักสามารถหยั่งรู้ได้ด้วยพลังอำนาจของการทำนาย และนี่คือความสามารถหยั่งรู้บางประการ

- ไม่มีรายละเอียดที่สมควรถูกตัดทิ้ง ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือดูไม่สำคัญ นัยยะคือบางสิ่งบางอย่างที่เราเห็นว่าเหมาะสม ไม่ได้หมายถึงความเหมาะสมโดยทั่วไป การเหมารวมเอาว่าเหมาะสมสำหรับผู้อื่นนั้น คือการตัดรายละเอียดในความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป สิ่งที่เรียกว่าเป็นองค์รวมนั้น ก่อนอื่นก็คือการเข้าใจในรายละเอียดขององค์ประกอบ การพูดถึงองค์รวมโดยละเลยองค์ประกอบ องค์รวมที่พูดถึงนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรกันกับกลุ่มก้อนของการรวมหมู่ในยุคที่ผ่านมา และเมื่อพูดถึงกฎเกณฑ์ของกลุ่มก้อนของการรวมหมู่มาใช้กับการผุดบังเกิดใหม่ และโครงสร้างหลายระดับชั้น ที่ต่างก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน หลักคิดเช่นว่านั้น นอกจากไร้สาระแล้วยังน่าขันอีกต่างหาก

- เมื่อเปรียบเทียบกันดุลยภาพทางกายภาพและดุลยภาพของระบบกลไก สถานะที่เป็นวิกฤติคือข้อยกเว้น สำหรับในระบบซับซ้อนที่มีพลวัต สถานะที่ไม่มีดุลยภาพคือเนื้อแท้ นัยยะคือ ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เป้าหมาย และเป็นสิ่งที่จะยอมรับได้หรือไม่ยอมรับ จึงไม่ใช่ความพยายามที่ดีในการเติมส่วนที่ขาดหายไป การค้นพบว่าบางสิ่งที่ขาดหายไปแล้ว โดยความเป็นจริงมันคือรสชาติในชีวิตจริง มากกว่าความพยายามเติมเต็มส่วนที่ไม่อาจหวนคืน

- เมื่ออยู่ภายใต้สภาวะที่เป็นวิกฤต ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าเป็นวิกฤต แต่ภายใต้ภาวะที่เป็นวิกฤตที่มีพลวัตสู่ความไร้ระเบียบ ผลของการปฏิสัมพันธ์ภายใต้ภาวะที่ไร้ระเบียบ คือการขับเคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูด ด้วยพลังแห่งการก่อระเบียบด้วยตัวเอง เช่นนี้แล้ว มายา “พลังแผ่นดิน” จึงดูเหมือนเป็นพิธีกรรมที่เสริมความเชื่อบางอย่างเท่านั้น- สภาวะไร้ระเบียบมีอยู่ทั่วไป ภารกิจยิ่งใหญ่คือการเข้าร่วมปฏิสัมพันธ์ในระบบซับซ้อนที่เป็นพลวัต ในฐานะที่เป็นตัวเข้าร่วมกระทำ มากกว่าการทำตัวในฐานะเป็นผู้จัดระเบียบ นัยยะนี้หมายความว่า ความเอาการเอางานทั้งปวงอยู่ที่การกระตุ้นและขยาย มากกว่าการชี้นำและการกำหนด

2.2.2 การค้นพบประการที่สอง คือ การแยกส่วนไม่เห็นกระบวนการ การปฏิสัมพันธ์ต่างหากคือนัยยะของการเชื่อมโยง แท้จริงแล้วระบบซับซ้อนที่มีพลวัต คือผลพวงของการปฏิสัมพันธ์อย่างไม่ขาดสายนั่นเองระบบซับซ้อนที่ป็นพลวัต ปฏิเสธการคิดเชิงวิเคราะห์ที่แยกระบบออกเป็นส่วนแล้วพิจารณาในรายละเอียด เพราะไม่สามารถทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงกระบวนระบบได้ แต่จะพิจารณาระบบในฐานะที่เป็นองค์รวม ความเชื่อมโยงกันระหว่างระบบย่อยและองค์ประกอบ หลักการองค์รวมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบ มักเป็นที่อ้างอิงเสมอมา ในขณะเดียวกัน จิตวิญญาณของการคิดกระบวนระบบมักถูกละเลยไป อันเป็นที่มาของวาทกรรม “คิดอย่างเป็นองค์รวม” และ “คิดอย่างเชื่อมโยง” การสืบค้นกระบวนระบบ จึงถูกจำกัดด้วยการแบกสัมภาระเหล่านี้ไว้ กล่าวคือ หนึ่ง ลัทธิเอาอย่าง เอาความสำเร็จของผู้อื่นซึ่งมีสภาพแวดล้อมและเป้าหมายที่เป็นการเฉพาะมาเป็นบทเรียน สอง ครอบงำด้วยเป้าหมายวางตัวเป็นผู้จัดระเบียบส้งคม สาม การคิดแทนและทำแทน สี่ ยึดโยงอยู่กับอดีตเอาความเป็นจริงในอดีตเป็นฐานตั้งของการคิด ห้า พิมพ์เขียวไม่ได้เป็นผลของการปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อการผุดบังเกิดจิตวิญญาณของระบบซับซ้อนเชิงพลวัต การคิดถึงระบบในเชิงองค์รวม ก็คือการแลเห็นความเป็นอิสระขององค์รวมย่อยและ/หรือความเป็นอิสระขององค์ประกอบ สภาพที่เป็นพลวัตนั้นปัจเจกไม่เคยและไม่จำเป็นต้องสังกัดการรวมหมู่อย่างเป็นภาวะสถิต ดังนั้นองค์ประกอบย่อยจึงมีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ในการเข้าร่วมปฏิสัมพันธ์และผลพวงของการปฏิสัมพันธ์ที่ก่อเกิดการผุดบังเกิด ก็ย่อมเป็นการเคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูดที่ไม่ได้รับแรงผลักดันหรือการกำกับจากภายนอกระบบและก็ไม่ใช่เป็นทิศทางที่สามารถกำหนดได้ ก่อเป็นพลังแห่งการจัดระเบียบตนเองด้วยความมุ่งหมายเป็นการเฉพาะ ปฏิสัมพันธ์กัน คือเนื้อแท้ของความเชื่อมโยงและเป็นการเชื่อมโยงภายใต้สภาวะที่เป็นพลวัต การผุดบังเกิดอันเป็นผลพวงของการปฏิสัมพันธ์ จึงเป็นการเชื่อมโยงที่ทำลายการเชื่อมโยงในลำดับชั้นที่ต่ำกว่า ไม่มีลักษณะของการเชื่อมโยงที่ตายตัว ดังนั้น การปรับปรุงประสิทธิภาพ (ของการเชื่อมโยง) อย่างเช่น ขบวนพลังแผ่นดิน จึงไม่ได้มีสาระอะไรที่จักสะท้อนความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของกระบวนระบบใด

2.2.3 การค้นพบประการที่สาม คือ การอ้างหลักเหตุผลเชิงเดี่ยว ไม่สามารถใช้ได้ในโครงสร้างระบบซับซ้อน การค้นพบนี้แท้จริงแล้ว ก็คือ ความคิดนอกรีต ของความดีงาม ของความจริงสูงสุด ของความเชื่อในลัทธิ ของอุดมการณ์สูงส่ง ฯลฯ สิทธิอัตตวินิจฉัย ภายใต้การรับรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและมากพอ เพื่อค้นหา ทัศนียภาพที่เหมาะสม และไม่แปลกแยกสำหรับตนเองนั้น ได้ข้ามพ้นพันธนาการของการอ้างเหตุผล คือการตื่นรู้และยืนยันตนเองต่อผู้อื่น ต่อสภาพแวดล้อม คือศักราชของความคิดนอกรีต ที่หาญกล้าและท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ดังนั้น ความปรารถนาดี สิ่งที่คิดว่าดี ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องดีโดยทั่วไป ซ้ำร้ายอาจกลายเป็นพันธนาการแก่ผู้อื่นอีกต่างหาก

2.2.4 กระบวนการที่เป็นพลวัต ระหว่างภาวะไร้ระเบียบและการจัดระเบียบใหม่ คือโอกาสของพลังแห่งการจัดระเบียบตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นไปโดยกฎหรือยุทธศาสตร์หรือการควบคุมใดๆ ภาวะไร้ระเบียบไม่อาจเกิดระเบียบขึ้น ด้วยการนำเสนอกฎเกณฑ์การจัดระเบียบใหม่ด้วยจินตนาการ และก็ไม่สามารถเกิดระเบียบโดยการรื้อระเบียบในอดีตมาซ่อมแซมปะผุด้วยความพยายามจะควบคุมทิศทาง โดยความเป็นจริง สังคม ศาสนา วัฒนธรรมและความรู้ ล้วนเป็นโครงสร้างที่มีระเบียบอยู่เดิมทั้งสิ้น แม้แต่จินตนาการองค์กรแบบใหม่ก็มีระเบียบที่แน่นอนแฝงฝังอยู่แล้ว และทั้งหมดล้วนเป็นพันธนาการต่ออิสรภาพของการก่อระเบียบใหม่ มากกว่าการเอื้ออำนวยและการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยมุมมองที่เป็นพลวัต สภาวะไร้ระเบียบเป็นสิ่งถาวร การสลายพันธนาการด้วยการละออกจากกฎเกณฑ์เดิม ๆ สร้างช่องทางของการสื่อสารที่นำไปสู่การปฏิสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ก่อเกิดเป็น ข่ายปฏิสัมพันธ์ ผ่อนคลายด้วยการไม่วาดหวังสิ่งที่เป็นเป้าหมาย ปล่อยให้กระบวนการปฏิสัมพันธ์ ก่อกระบวนการเรียนรู้ ปรับแต่งโครงสร้าง จัดการกับตนเองในทิศทางที่ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดเป็นผู้กำหนด สิ่งผุดบังเกิด อาจไม่ใช่งานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ แต่มันคือความเป็นจริงในโลกซับซ้อน ที่สุนทรียภาพไม่ใช่เรื่องหมดจดหรือดีงามสูงสุด แต่สุนทรียภาพคือ ความสามารถอยู่ร่วมกันของความแตกต่างหลากหลาย

3. กลเกมส์ทางภาษาและการสร้างแบบจำลอง

การแก้ปัญหาเมื่อพูดถึงกระบวนการจัดระเบียบตนเองนั้น สิ่งที่กำลังพูดถึงอยู่ ที่บอกว่าเป็นคุณลักษณะประการหนึ่งของระบบซับซ้อนนั้น โดยความเป็นจริงการจัดระเบียบตนเองนั้น มีพื้นฐานมาจากความแตกต่างและการคัดสรรโดยธรรมชาติ ในทฤษฎีวิวัฒนาการนั่นเอง แต่โดยลำพังแล้ว ในยุคของข้อมูลข่าวสารนั้น กระบวนการจัดระเบียบตนเองนั้น มีความจำกัดในการให้ความกระจ่างกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย อิทธิพลของการสื่อสารที่ไม่เพียงแต่การส่งผ่านข่าวสารและข้อมูลเท่านั้น สำหรับมนุษยชาติที่สามารถเรียนรู้ ปฏิกิริยาหรือผลสะท้อนกลับของการรับรู้ นอกจากการเรียนรู้แล้ว ผลที่ตามมายังสามารถส่งผลต่อการก่อระเบียบได้อีกด้วย ดังนั้นความพยายามที่นำเสนอศาสตร์ที่ข้ามพ้นกรอบวิชาว่าด้วยการคัดสรรทางพันธุกรรมในทางชีววิทยาและศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ในวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ อาจเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มพลังการทำนายแนวโน้มของการผุดบังเกิด และ/หรือสามารถสร้างแบบจำลองในการแก้ปัญหาได้สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งยุคสมัยได้ดีขึ้น นอกจากศาสตร์ดังกล่าวแล้ว นวัตกรรมในภาษาศาสตร์ผสมกับการทำแผนของการโฆษณา ก็ได้ช่วยเพิ่มศักยภาพของการขับเคลื่อนออกไปได้ไม่น้อยทีเดียวแต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมและความเชื่อที่เคยก่อรูปขึ้นจากความทรงจำในอดีต ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ และการสืบค้นของศาสตร์ใหม่ๆ เหล่านี้ เป็นอย่างยิ่งด้วย หากจะใช้ความรู้ใหม่ๆ วิธีการศึกษาสืบค้นใหม่ๆ เพื่อมุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสลัดพันธนาการด้วยการลืมอดีต มันเป็นรสชาติที่ผะอืดผะอม แต่อย่างไรก็ตาม เราได้ก้าวล้ำเข้าไปในดินแดนของโลกยุคใหม่แล้ว

3.1 ในศาสตร์ของการสื่อสาร ผลของการสื่อสารสามารถก่อให้เกิดการแยกตัวและการรวมตัวได้ ขึ้นอยู่กับผลของการปฏิสัมพันธ์ในสภาพเริ่มต้น ที่ใกล้ความเป็นระเบียบ หรือตรงชายขอบของความโกลาหล

3.1.1 ในอดีตมนุษยชาติที่อยู่ภายใต้กรอบของการรวมหมู่ ควบคุมและ/หรือครอบงำด้วยการสื่อสารทางเดียว ความสามารถที่เหนือกว่าในคุณสมบัติดังกล่าว หมายถึงอำนาจเหนือกว่าในการควบคุมธรรมชาติและชีวิต

3.1.2 เมื่อมีการไหลของข้อมูลข่าวสารที่เกินกว่าการควบคุม การควบคุมก็ได้สูญเสียอำนาจไป โครงสร้างของกลุ่มก้อนการรวมหมู่ จึงไม่อาจเหนี่ยวรั้งรูปลักษณ์เดิมไว้ได้ แตกตัวเป็นโครงสร้างที่กระจัดกระจาย

3.1.3 องค์ประกอบย่อยที่สามารถรับข้อมูลข่าวสารและมีปฏิสัมพันธ์ข้ามพ้นการยึดโยงของโครงสร้างในระบบปิดของกลุ่มก้อนการรวมหมู่ คือ ความเป็นอิสระและสามารถก่อกระบวนการเรียนรู้ ตื่นรู้และตระหนักในตัวตน คือกระบวนการยืนยันตนเองต่อผู้อื่นและต่อสภาพแวดล้อม

3.1.4 ในขณะเดียวกัน ปัจเจกในฐานะที่เป็นองค์ประกอบ ก็มิอาจอยู่ตามลำพังได้ องค์ประกอบย่อยเหล่านี้ จึงมีแนวโน้มของการเข้าหาองค์รวม ตามหลักการแห่งความแตกต่างและการคัดสรรด้วยการก่อระเบียบด้วยตนเอง เพื่อการค้นหาสภาพที่เหมาะสมเพื่อการดำรงอยู่ คือขั้นตอนใหม่ของการก่อตัวเข้าสู่ระเบียบในลำดับขั้นใหม่ ขณะเดียวกันลักษณะของการโน้มเข้าหาองค์รวมนั้น บทบาทของกระบวนการเรียนรู้และ/หรือความทรงจำ ก็จะมีผลต่อรูปลักษณ์ของโครงสร้าง

3.1.5 นัยยะของการที่ปัจเจกยืนยันตัวตนต่อผู้อื่นและสภาพแวดล้อม โน้มเข้าหาองค์รวมนั้น มิติของการตื่นรู้ พวกเขามิได้ขับเคลื่อนด้วยแรงกดดันของชุดมายาคติหรือสภาพเสมือนสมมุติที่เป็นไปตามความเชื่อ ชุดของอุดมการณ์ หรือระบบคุณค่าใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคุณค่าที่จำแนกอย่างง่าย ๆ ในโลกสัมบูรณ์ อย่างเช่น ดี-เลว เข้มแข็ง-อ่อนแอ มีศีลธรรม-ขาดศีลธรรม หรือ ธรรม-อธรรม แต่พวกเขาจะสร้างโลกและสภาพแวดล้อมในมุมมองของเขาเองเป็นพฤติกรรมเฉพาะ เป็นคุณค่าเฉพาะ ที่สอดคล้องกับความเหมาะสมและการดำรงอยู่ของเขาเองและโน้มเข้าหาองค์รวมที่เหมาะสมเช่นกัน

3.2 ศักยภาพของการสื่อสารที่สามารถก่อระเบียบ ก่อนอื่น สาระของการสื่อและเป้าหมายระเบียบที่ต้องการ คือตัวสะท้อน ความอับตันหรือทางออก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเส้นแบ่งของ การสื่อสารเพื่อการควบคุมและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้และตื่นรู้นั้นแตกต่างกัน แบบจำลองการแก้ปัญหาจึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเหล่านี้

3.2.1 โลกศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่มีพลวัตเป็นอัตราเร่ง กระหน่ำดุจดั่งพายุหมุน ไม่มีเลยที่ ชาติ ศาสนา สถาบันต่าง ๆ กระทั่งครอบครัว ชีวิตและความคิด ล้วนถูกความเปลี่ยนแปลงนี้ท้าทายถึงหน้าเรือนชาน อย่างไม่จำแนกอินทร์-พรหม เป็นความตื่นตระหนกอย่างถ้วนหน้า ที่สำคัญจึงเป็นการยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงที่มาถึงอย่างท้าทายด้วยความคิดสร้างสรรค์ มากกว่า ความพยายามหวนกลับไปสู่เสถียรภาพที่มีเมื่อวันวานด้วยความรู้สึกที่เคยมั่นคง พร้อมกับการร้องแรกแหกกระเฌอให้ผู้คนย้อนกลับมาสร้างพลังแผ่นดินกันใหม่

3.2.2 การก้าวเข้าสู่พรมแดนใหม่นั้น พบว่า เป็นเรื่องราวของคนละระนาบกับประวัติศาสตร์ ยืนยันทฤษฎีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต่อเนื่องกับประวัติศาสตร์ บ้างก็ค่อย ๆ คืบคลานผ่านพรมแดนไป บ้างก้าวย่างเข้าสู่พรมแดนใหม่ด้วยภาวะกวัดแกว่งอย่างรุนแรง การคิดหรือสร้างแบบจำลองที่อาศัยเรื่องราวในอดีตเป็นตัวตั้งจึงต้องตกในวังวนที่เป็นกับดักที่ไม่สามารถพบทางออกได้

3.2.3 อำนาจของการทะลุทะลวงของข้อมูลข่าวสารนั้นรุนแรงยิ่ง โครงสร้างที่แข็งทื่อที่ยึดโยงด้วยเงื่อนไขความสัมพันธ์จากบนลงสู่ล่าง หรืออำนาจการรวมศูนย์ ได้สะท้อนในเกือบทุกบริบทแล้วว่า ผลพวงของข้อมูลข่าวสาร สู่การแตกตัวเชิงโครงสร้าง สู่โครงสร้างที่กระจัดกระจายได้ลดทอนความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ของการอาศัยอำนาจรวมศูนย์เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดความสัมพันธ์ของมวลมนุษยชาติและเป็นอำนาจสำหรับการแก้ปัญหาอีกต่อไป

3.2.4 พัฒนาการของเทคโนโลยี่ โดยเฉพาะเทคโนโลยี่ที่นำสู่การสร้างโลกเสมือนจริงคือศักราชของการก่อรูปความสัมพันธ์ของมนุษยชาติในพรมแดนใหม่ ที่จักต้องทบทวนทัศนะแม่แบบที่มีต่อชีวิต ความสัมพันธ์ร่วมกันของชีวิตและวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ คือวิถีชีวิตจริงที่ก้าวเข้าสู่พรมแดนใหม่ที่ไม่สัมพันธ์กันด้วยโครงสร้างง่าย ๆ จากแบบจำลอง จากยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยกรอบคิด หรือจากความปรารถนาดี จากความดีงามจากหลักธรรมคำสอน ฯลฯ

3.3 ความสามารถในการคิดค้นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารนับเป็นก้าวกระโดดที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นโครงสร้างของความเป็นจริงที่ถ่ายทอดผ่านภาษา กระทั่งในยุคของข้อมูลข่าวสาร ความสำคัญของภาษาที่ข้ามผ่านข้อจำกัดของแต่ละภาษา การข้ามพ้นขีดจำกัดนี้ยิ่งทวีความสำคัญ ไม่เพียงแต่ทะลายข้อจำกัดในอดีตผสานกับเทคโนโลยี่ของการสื่อสาร การก่อรูปของคลังสมองของโลกก็ได้ปรากฎเป็นจริง

3.3.1 ภาษา การสื่อสาร และการสร้างโลกเสมือนจริง*

3.3.2 นวัตกรรมทางด้านภาษาได้ถูกใช้เป็นสื่อในการสร้างแบบจำลองผ่านการสื่อสาร*( * จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ )

3.3.3 กลเกมส์ทางภาษา การผสานนวัตกรรมทางด้านภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและพฤติกรรม เพื่อการบรรลุเป้าหมายในการสร้างแบบจำลองที่มีนัยยะแฝงเร้น ที่บอกว่ามีนัยยะแฝงเร้นก็เพราะว่า ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างระบบหนึ่งไปสู่โครงสร้างอีกระบบหนึ่งนั้น นวัตกรรมทางภาษาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาบ่งบอกถึง กรอบ ที่ใช้เป็นฐานในการสร้างชุดของภาษาดังกล่าวส่งผลต่อการสร้างแบบจำลองในทิศทางที่อยู่ภายใต้กรอบคิดเช่นนั้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเหล่านี้- สังคมเข้มแข็ง เพราะฐานคิดที่ยึดโยงกับความเชื่อที่ว่าสังคมอ่อนแอ จึงออกแบบโครงสร้างสำหรับการสร้างสังคมเข้มแข็งขึ้น ซึ่งโดยความเป็นจริง แตกต่างกับ การเปลี่ยนผ่านในการก่อรูปโครงสร้างอย่างใหม่อย่างสิ้นเชิง- กองทุนหมู่บ้าน การออกแบบแก้ปัญหา โดยการยึดโยงโครงสร้างความสัมพันธ์โดยฐานระบบการปกครองของมหาดไทย นัยหนึ่ง ความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว รูปธรรมความสัมพันธ์ในลักษณะของหมู่บ้านนั้น โดยทั่วไป ได้กลายเป็นความสัมพันธ์เชิงกายภาพเท่านั้น - หรืออย่างเช่น สร้างเครือข่าย ถึงแม้จะเห็นแบบแผนของพฤติกรรม ในโครงสร้างที่กระจัดกระจาย มีความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะของการก่อเครือข่าย แต่ฐานคิดในระบบความสัมพันธ์ในแนวดิ่งแบบระบบรวมศูนย์ จึงมีความเข้าใจว่าสามารถ สร้าง เครือข่ายได้ - การเมืองภาคประชาชน การเมืองภาครัฐ ก็เป็นรูปธรรมของการสร้างแบบจำลองการแก้ปัญหาที่ยึดโยงอยู่กับกรอบโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมๆดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กลเกมส์ทางภาษา ที่ถูกสร้างขึ้นโดยวาทกรรมชุดใหญ่ที่เข้าแทนที่ความเชื่อทางอุดมการณ์ที่มีฐานะครอบงำสังคมไทยอยู่ เป็นคำหรู ดูก้าวหน้า ดูเหมือนคล้าย ๆ กับว่า เข้าใจการเปลี่ยนผ่าน หากไม่เป็นการเสแสร้ง วาทกรรมชุดใหญ่ที่แพรวพราวไปด้วยกลเกมส์ทางภาษาดูเหมือนจะอันตรายอย่างยิ่ง ในฐานะที่ตัดทางเลือกที่เป็นอิสระก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้วยการเชื่อมโยงการปฏิสัมพันธ์และก่อระเบียบใหม่ด้วยตนเอง แต่จะถูกลากดึงไปสู่การบูรณาการโครงสร้างเดิมซึ่ง ไม่สามารถจะรักษาไว้ได้อีก หนทางการเปลี่ยนแปลงที่สมควรจะเปลี่ยนถูกสกัดกั้นด้วย พลังความเชื่อ คงเป็นภาพที่น่าสยดสยองอีกครั้งหากความเชื่อเช่นนั้นไม่สามารถเป็นความจริง

4. มายาคติองค์กรแบบใหม่

ห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ดูเหมือนกับว่า โลกได้เวลาของการกวาดขยะครั้งใหญ่สักครั้งหนึ่ง หลังจากความรู้และการพัฒนาได้ก่อมลภาวะไว้มากมาย หนึ่งในมลภาวะที่ต้องถูกชำระคือ ความรู้เกี่ยวกับองค์กร สถาปัตยกรรมทางด้านองค์กร โครงสร้างองค์กร ยุทธศาสตร์องค์กรและบรรดาเครื่องมือที่ใช้เกี่ยวกับการบริหารองค์กรหลักคิดเบื้องต้น ต่อการจัดระเบียบที่ก่อรูปเป็นโครงสร้างองค์กรนั้น ยังวางรากฐานอยู่ที่ หนึ่ง กระบวนการเรียนรู้และมีความสามารถตื่นรู้ สองกระบวนการจัดระเบียบตนเอง ด้วยรากฐานของแนวคิดดังกล่าว ท้ายที่สุด ก็คือ ความคิดนอกรีตและความดื้อดึง ต่อธรรมเนียมปฏิบัตินั่นเอง

4.1 การพิจารณาออกแบบจำลอง นัยหนึ่งโครงสร้างองค์กร ความหมายของ คำว่า องค์กร ไม่ได้มีสาระใดอื่นนอกจาก การพิจารณา กระบวนการการก่อระเบียบจากกระบวนการเรียนรู้และใช้สิทธิอัตตวินิจฉัยเข้าหาแอ่งดึงดูดที่มีความเหมาะสมและไม่แปลกแยก เพื่อสถานภาพการดำรงอยู่ ในที่นี้แทนที่ออกแบบจำลองสร้างองค์กร สิ่งที่ควรกระทำกลับเป็น การสร้างช่องทางการสื่อสารในแนวราบเพื่อการก่อข่ายปฏิสัมพันธ์ เพื่อการเรียนรู้และเลือกในฐานะของตัวกระทำเข้าร่วมการปฏิสัมพันธ์สู่แอ่งดึงดูด

4.2 องค์กรไม่ได้มีฐานะของการเป็นเครื่องมือ ที่ใช้สำหรับการแก้ปัญหา อีกต่อไป เคยมีความเข้าใจกันว่า การจัดตั้งคือพลัง โดยการอาศัย การก่อพลังรวมหมู่ ในโครงสร้างการสื่อสารแบบแนวดิ่งแล้วหล่อเลี้ยงพลังขับเคลื่อนด้วย อุดมการณ์และ/หรือคุณค่า (หรือสิ่งที่พยายามบอกให้มององค์รวม อะไรทำนองนั้น) ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว

4.3 บางครั้ง ดูเหมือนว่า ขบวนการเคลื่อนไหว ดูจะซีเครียดกับการเฟ้นหายุทธศาสตร์ที่เลิศหรู โดยความเป็นจริงในโครงสร้างที่กระจัดกระจาย การดำรงอยู่ของความแตกต่างหลากหลาย คือเนื้อแท้ นัยยะคือ ในแต่ละระบบอาจประกอบด้วยระบบย่อยอีกนับไม่ถ้วนและมีองค์ประกอบที่ประกอบเป็นแต่ละองค์ประกอบย่อยได้อีกมากมายเช่นกัน บนพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์เคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูด หากจะจินตนาการในรายละเอียดเหล่านี้ ยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องเหมาะสมก็นับไม่ถ้วนเช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า กระบวนการก่อระเบียบนั้น ข่ายของการปฏิสัมพันธ์ แตกต่างและคัดสรร ก่อรูปและปรับโฉม ด้วยพลังแห่งการจัดระเบียบตนเองมากกว่าการขับเคลื่อนโดยทิศทางของยุทธศาสตร์

4.4 แบบแผนของการก่อรูปจากพลังแห่งการจัดระเบียบตนเองนั้น ไม่เคยมีกฎหรือสูตรสำเร็จ ความสำเร็จจากการก่อรูปในโครงสร้างหนึ่ง ก็ด้วยผลพวงของการขับเคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูดที่มีเป้าหมายเฉพาะและความเหมาะในทัศนียภาพหนึ่ง ๆ จึงไม่ควรมีการลอกแบบองค์กรตายตัว4.5 ในโลกของความซับซ้อนลักษณะของการก่อรูปเชิงเดี่ยวภายใต้ความสัมพันธ์กันอย่างง่าย ๆ โดยการคิดง่าย ๆ อย่างพลังแผ่นดินนั้น ดูเป็นเรื่องน่าขันยิ่ง เช่นเดียวกับ ความพยายามใช้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างเดี่ยวแบบ รัฐ รวมศูนย์แก้ปัญหาโดยรวม ซึ่งยิ่งแก้ปัญหายิ่งเพิ่มขึ้น ตกวังวนในที่เป็น กับดักมรณะ ไม่มีการก่อรูปใด ๆ ที่เชื่อมร้อยด้วย ความเป็นจริง เดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อรูปที่เชื่อมร้อยด้วย มายาคติ จากคุณค่า วัฒนธรรม หลักการศาสนาและระบบกฎหมายเดี่ยวที่เหมาะสมอีกต่อไปในความดื้อดึงของคนนอกรีตอาจเป็นประโยชน์บ้างหากสามารถยับยั้งดื้อรั้นของความดันทุรัง

5. ทัศนะที่มองความเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหว

ไม่มีข้อแม้ว่าจะมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมุมมองไหน สิ่งที่คำนึงถึงคือ ผลที่ตามมาจะเป็นเครื่องชี้ชะตากรรมบั้นปลายว่าจะเป็นอย่างไร หากมองว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่าคือความเสื่อมลง ท่าทีที่ออกมาคือความพยายามซ่อมแซมและปะผุ ด้วยความพยายามเสริมส่วนที่คิดว่าขาดหายไป โดยการเอากรอบที่คิดว่าสามารถก่อระเบียบที่ในความรู้สึกว่า มันคือความมั่นคงและดูดี สร้างคุณค่าที่ครอบงำแต่หากด้วยมุมมองของระบบพลวัตซับซ้อน แบบแผนของการผุดบังเกิดได้บอกแนวโน้มสำคัญแก่เราแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นอัตราเร่งในโลกศตวรรษที่ 21 มีลักษณะของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็คือการ เปลี่ยนจากโครงสร้างหนึ่งไปสู่อีกโครงสร้างหนึ่งหรือหลาย ๆ โครงสร้าง เป็นโครงสร้างกระจัดกระจาย และหลายระดับชั้น มีคุณสมบัติที่เป็นลักษณะจำเพาะของการผุดบังเกิด ไม่ทิ้งร่องรอยหรือเค้าโครงของโครงสร้างก่อนหน้านั้น ลีลาและมุมมองที่อาศัยฐานความรู้ และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างเดิม จึงไม่อาจให้ภาพของการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ หรือเป็นเพียงภาพในวาดหวังที่ต้องการ ซึ่งบ่อยครั้งนักที่จะสะท้อนความบิดเบี้ยวและก่อภาวะที่แปลกแยก ความกระตือรือล้นเป็นทวีคูณด้วยความคิดแช่แข็งเช่นนี้ นอกจากไม่มีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังก่อภาวะเพิ่มค่าวิกฤตให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

5.1 เปลี่ยนบทบาทฐานะขององค์กรนำและผู้นำ ให้เป็นเพียงองค์กรและผู้กระทำ แสดงบทบาทในฐานะที่เป็นผู้ร่วมกระทำทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่ม ทฤษฎีตัวกระทำ(แทนการนำ) มาจากแนวคิดเรื่องของการตื่นรู้ของปัจเจก ที่ยืนยันตัวตนและเป็นอิสระจากการสังกัดการรวมหมู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกันในโครงสร้างก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ของระบบฐานปัจเจกนี้ ปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นอิสระ เคลื่อนสู่ทัศนียภาพที่เหมาะสม ก่อทางเลือกที่อยู่นอกเหนือการกำกับและทำนาย กระบวนการก่อระเบียบทั้งปวง ล้วนแล้วแต่อธิบายได้ด้วยกฎของพฤติกรรมปัจเจก ซึ่งก็คือความรู้ในเรื่องพลังแห่งการจัดระเบียบตนเอง ปัจเจกหรือกลุ่มที่สามารถหยั่งรู้ในแนวโน้มของทิศทางก่อน ก็สามารถแสดงบทบาท ในฐานะที่เป็นข้อต่อของการเชื่อมโยงในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะกล่าวต่อไปใน 5.5

5.2 ในโครงสร้างหลายระดับชั้น มีทั้งการต่อสู้กันและความร่วมมือกัน หากอาศัยมุมมองระบบพลวัตซับซ้อน ที่เป็นระบบฐานปัจเจก มุมมองที่มีนัยยะข้ามพ้นบริบทการมองภายใต้กรอบการเมือง “รัฐ” จะมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวกระทำกลุ่มที่มีบทบาทมากเท่านั้น การสามารถข้ามผ่านมายาคติการแสวงหาระบบปกครองที่ดี หรือ กรอบการเมืองเช่นนี้ คือ ความตื่นรู้สู่ศักยภาพของการออกจากกับดักมรณะ ศักราชของการแลเห็นความงามของความแตกต่างหลากหลาย พลังงานทั้งหมดก็จะถูกทุ่มเทสู่การสร้างสรรค์ แทนการหมกมุ่นแก้ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ในแต่ละปัจเจกและตัวกระทำกลุ่มเข้าร่วม ปฏิสัมพันธ์กัน มีทั้งความร่วมมือกัน และต่อสู้กันหรือกระทั่งวางเฉยต่อกัน ก่อพลังแห่งการจัดระเบียบตนเองอย่างต่อเนื่อง แตกต่างและคัดสรร ก่อรูปและปรับโฉม ถักทอและสัมพันธ์สู่ระเบียบขั้นใหม่อย่างไม่ขาดสาย แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับนิทานเรื่องสามเหลี่ยมย้ายภูเขา ที่ลากจูงเอาขบวนเคลื่อนไหวเข้าร่วมปันส่วนอำนาจ จมดิ่งลึกลงสู่กับดักมรณะ

5.3 เป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ ความสัมพันธ์ที่ข้ามพ้นกรอบองค์กร คือการก่อเครือข่าย จากเร่ร่อนถึงการก่อเครือข่าย คือความซับซ้อนหลายระดับชั้นของการก่อระเบียบ โครงสร้างกระจัดกระจายในยุคของข่าวสาร ในระบบฐานปัจเจก สู่การยืนยันตัวตนด้วยเป้าหมายเฉพาะ คือการเคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูดด้วยพลังแห่งการก่อระเบียบตนเองและด้วยกฎการโน้มเข้าหาองค์รวม แบบแผนของพฤติกรรมดังกล่าวได้ฉายให้เห็นลักษณะเฉพาะของโครงสร้างองค์กรที่เด่นชัดออกมา กล่าวคือ หนึ่งกลุ่มย่อยมีเป้าหมายเฉพาะ สองต่างก็เป็นอิสระ สาม สัมพันธ์ข้ามพ้นกรอบองค์กรด้วยความสมัครใจ สี่ไม่มีบทบาทการนำที่เป็นศูนย์กลาง ห้าผสานองค์รวมด้วยการก่อเครือข่าย ถักทอเป็นโครงสร้างในระบบซับซ้อน และทั้งหมดนี้ก็เป็นเงื่อนไขพื้นฐานแก่การหยั่งรู้ สร้างสรรค์แบบจำลองและการเคลื่อนไหว ที่ข้ามพ้นกรอบคิดของการรวมศูนย์และพลังรวมหมู่ของความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างก่อนหน้านี้

5.4 การเคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูดด้วยพลังแห่งการจัดระเบียบตนเองนั้น การก่อระเบียบหนึ่งใด ส่งผลต่อระบบโดยรวมได้ในทิศทางต่าง ๆ กัน ในที่นี้ที่สนใจคือ การเคลื่อนไหวที่ก่อพลังบวกต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นที่ทราบดีว่า ด้วยกรอบคิดการเคลื่อนไหวแบบเดิม ๆ ที่ย่ำอยู่กับที่นั้นไม่อาจก่อผลต่อการจัดระเบียบใหม่ได้ สิ่งที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่งคือ เป็นการสร้างแบบจำลองการเคลื่อนไหวผ่านกลเกมส์ทางภาษาที่เพียงแต่ดูดี แต่แอบแฝงไว้ด้วย ความสัมพันธ์ จากระบบคุณค่าที่ไม่เคยเปลี่ยน จึงไม่เคยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้เลย ปัจเจกและตัวกระทำกลุ่มจะสามารถก่อพลังบวกต่อการเคลื่อนไหวได้ ก่อนอื่นนั้น คือ หนึ่งการเอาชนะกรอบเหตุผล เข้าร่วมสมทบกับพวกนอกรีต สอง ข้ามพ้นมายาคติการสื่อสารในรูปแบบและสาระในโครงสร้างก่อนหน้านี้ สู่การเข้าร่วมขบวนการปฏิสัมพันธ์สื่อสารในวิถีชีวิตจริง ด้วยสาระและความรู้ที่ถ่ายทอดแก่กันในโครงข่ายปฏิสัมพันธ์ด้วยความมุ่งหมายก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และตื่นรู้คือแบบแผนพฤติกรรมเฉพาะในยุคของข้อมูลข่าวสารผสานพลังแห่งการจัดระเบียบตนเอง สู่การสร้างสรรค์ทัศนียภาพที่เหมาะสม สามด้วยกลุ่มหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนเข้าสู่การจัดระเบียบเช่นนี้ จะส่งผลต่อระบบโดยองค์รวมในทางบวก นัยยะคือ ในห่วงโซ่ของข่ายปฏิสัมพันธ์ การเคลื่อนเข้าสู่ทัศนียภาพที่เหมาะสมของระบบย่อยหนึ่งใด ได้กลายเป็นสภาพแวดล้อมใหม่แก่ระบบย่อยอื่น ๆ ทั้งในแง่ของกระบวนการเรียนรู้และค้นพบเป้าหมายของตนเคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูด สู่ทัศนียภาพในความมุ่งหมายของตนเอง

5.5 บทบาทกระตุ้นและเอื้ออำนวย ในสถานภาพของการเป็นสื่อ สื่อสารข้อมูลและความรู้ ในกระบวนการเรียนรู้ ความเป็นไปได้ของการจัดระเบียบจากระเบียบในระดับขั้นก่อนหน้า โดยข้ามผ่านความโกลาหล มักเป็นกฎเกณฑ์เสมอไปว่า สภาวะโกลาหลที่ผ่านค่าวิกฤติคือการก่อระเบียบใหม่ และมักเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า กระบวนการในการก่อระเบียบใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของความแตกต่างและคัดสรร มีบ้างที่สามารถดำรงอยู่จากการปรับตัวได้ มีบ้างเช่นกันกับสภาพที่ไม่สามารถปรับตัวและถูกแรงกระแทกจากความเปลี่ยนแปลงจนต้องดับสูญไป หากมองในแง่ของมนุษยชาติหมายถึงการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ มีแบบแผนเป็นจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มเช่นนั้น ระบบประมวลผลจากข้อมูลที่มีอยู่ผ่านเครื่องมือของเทคโนโลยี่ได้บ่งบอกแนวโน้มนี้แก่เรา แต่อย่างไรก็ตาม มนุษยชาติ เป็นโครงสร้างระบบที่สามารถพัฒนาและปรับตัว กระบวนการสื่อสารและกระตุ้นการตื่นรู้จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ สามารถก่อกระบวนการเรียนรู้ โน้มเข้าสู่การจัดระเบียบจากสภาวะระเบียบ (ที่มีแนวโน้มเคลื่อนสู่วิกฤติ) โดยไม่ต้องรอความหายนะที่กำลังมาเยือนได้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่สาระของการสื่อสาร ที่ไม่ใช่แฝงฝังไว้ด้วยชุดของคุณค่าที่เป็นระเบียบในโครงสร้างก่อนหน้า ที่มุ่งหมายปั้นแต่งการจัดระเบียบไปตามความเชื่อ หากแต่เป็นการสุมหัวเพื่อการกรองข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการก่อระเบียบในแต่ละระบบย่อยที่เป็นไปตามเป้าหมายที่เขาต้องการ ความตระหนักรู้ที่กระตือรือล้นเข้าร่วมการปฏิสัมพันธ์ จะเป็นข้อต่ของการขับเคลื่อนสู่พรมแดนใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่ง

6.ระบบเชิงสัญญะกับแนวคิดการเคลื่อนไหวแบบใหม่

Cybernetics and Systems Science ศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้น ในปี 1940 ในยุคแรกนั้นเป็นระบบกลไก และพัฒนาต่อมาในปี 1970 เป็น ระบบอินทรีย์ จวบจนกระทั่งในระยะใกล้ ที่พัฒนาการของระบบการสื่อสารนำพาเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นวาระของยุคที่ 3 ซึ่งก็คือโครงสร้างระบบเชิงสัญญะ ( Semiotic Systems – Third order Cybernetics )ในยุคแรกนั้นก็คือ โครงสร้างระบบจักรกล ที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ไม่ใช่เพื่อตัวเอง( Change environment and not for it own sake ) ยุคที่ 2 คือยุคของระบบอินทรีย์ ที่ทำงานเพื่อตนเองและไม่ใช่เพื่อคนอื่น( For its own sake and not for the sake of an other ) ในขณะที่ระบบเชิงสัญญะ เป็นโครงสร้างของระบบที่ยืนยันตัวตนและทำให้ตนเองมีความหมาย( Self-referential in that it gives itself a meaning ) ระบบเชิงสัญญะเติมเต็มความหมายให้กับตนเอง โดยการให้ความหมายด้วยการกำหนดชื่อ สัญลักษณ์ ผ่านการสื่อสารในรูปของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นบทบาทหลักของระบบเชิงสัญญะ ที่มีมุมมองในเชิงนามธรรมว่า แท้จริงแล้ว องค์ประกอบหลักของสังคม ไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์ที่มีสำเหนียก มนุษย์ที่ตื่นรู้ หากปราศจากการสื่อสาร จักไม่สามารถมีการก่อรูปองค์กรใด ๆ ได้ นัยยะนี้ก็คือ สังคมไม่ได้ประกอบด้วยบุคคลแต่ประกอบด้วยเครือข่ายของการติดต่อสื่อสาร ต่างหากในการนี้มองว่า ปัจเจกบุคคลที่สำเหนียกรู้ ไม่สามารถป็นผู้ที่อยู่เหนือสังคมและดำเนินการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยทัศนะของตนเองได้ หากแต่กระบวนการสื่อสารต่างหากที่เป็นผู้กำหนดผู้เล่น ( Actors ) เข้าร่วมการปฏิสัมพันธ์ในข่ายของการปฏิสัมพันธ์ ภายใต้ความแตกต่างและคัดสรร และเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์ กำหนดความหมาย ( อัตตลักษณ์ตัวตน )ที่เป็นแอ่งดึงดูด เข้าสู่การจัดระเบียบตัวเองระบบกำหนดผู้เล่นเพื่อกระบวนการสื่อสารสามารถมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย ผู้เล่นในที่นี้ จึงไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงปัจเจกบุคคล หากรวมถึงกลุ่มบุคคล ที่มีความสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ชุดของข้อมูลการสื่อสารในข่ายของการปฏิสัมพันธ์ ก็ได้กลายเป็นผู้เล่นด้วย และเป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญยิ่งในยุคของข้อมูลข่าวสารภายใต้ภาวะพลวัตที่ซับซ้อน ทันทีที่ระบบกำหนดความหมายให้กับตนเอง แตกต่างออกจากระบบอื่นและสภาพแวดล้อม กระบวนการผุดบังเกิดจากสภาวะไร้ระเบียบก็เกิดขึ้น สิ่งผุดบังเกิดใหม่ก็เริ่มต้นติดต่อสื่อสารในข่ายของการปฏิสัมพันธ์ต่อไป และนี่ก็คือภาพลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเช่นนี้แล้วกระบวนทัศน์การเคลื่อนไหวที่กำหนดโดยอัตตลักษณ์ ชาติ (ในนามกลเกมส์การเมือง รัฐ-ประชาชน ) ในยุคก่อนหน้านี้ โดยเหมารวมเอาความแตกต่างหลากหลายที่กำหนดโดยอัตตลักษณ์ตัวตน ในโครงสร้างที่ได้เปลี่ยนผ่านแล้ว จึงไม่ได้ให้สาระอะไรที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงมากไปกว่าการปะทะคะคานภายใต้กฎเกณฑ์ที่ล่วงสมัยแล้วเท่านั้น นอกเหนือจากการหดแคบลงของพื้นที่การขับเคลื่อน ยังคงความตีบตันแก่อิสระภาพในการสร้างคุณค่าและความหมายแต่ตนเองด้วยโลกซับซ้อนภายใต้โครงสร้างเชิงสัญญะ การเติมเต็มชีวิต จึงมิได้ถูกจำกัดด้วยกรอบของการต่อสู้ทางการเมืองและการชนะคะคานด้วยสิ่งที่เรียกว่า “พลังประชาชน” กลุ่มก้อนการรวมหมู่ของโครงสร้างก่อนหน้านี้บทบาทของผู้เล่น ในฐานะมนุษย์ที่สำเหนียกที่เข้าร่วมปฏิสัมพันธ์ จึงไม่ใช่ปัจเจกที่ขับเคลื่อนด้วยแรงผลักดันของอุดมการณ์ หรือคุณค่ารวมหมู่ของโครงสร้างก่อนหน้านี้ แต่บทบาทผู้เล่น คือบทบาทที่เขาเลือกเพื่อการเติมเต็มชีวิตของเขาเองขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนผ่านจากการสร้างแบบจำลองอย่างง่าย ๆ ด้วยการวิเคราะห์สังคม ( ที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เป็นมายาของโครงสร้างก่อนหน้านี้ ) และการกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว ที่มุ่งหวังสร้างเอกภาพภายใต้ความแตกต่างหลากหลายที่เข้าแทนที่โครงสร้างก่อนหน้านี้ไปแล้วมีบางคนเรียกมันว่า Interaction Paradigm จะอย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงหมายถึงการกำหนดคุณค่า ความหมายที่แตกต่าง มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณและคุณภาพที่ให้ภาพของความเปลี่ยนแปลงคือการต่อสู้และการแปรเปลี่ยนของคู่ขัดแย้งมองผ่านม่านอำพราง โลกของความเป็นจริง ที่ถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ของกฎเกณฑ์ที่เป็นมายา การยืนยันตัวตนและเติมเต็มแก่ชีวิต จึงไม่ควรเป็นวิถีที่ถูกกำหนดโดยความเป็นจริงชุดเหล่านั้น หากแต่ควรจะเป็นโลกที่เรากำหนดเพื่อการเติมเต็มคุณค่าชีวิตของเราเองมากกว่าเช่นเดียวกันกับขบวนการเคลื่อนไหวแนวใหม่ จึงไม่ควรถูกกำหนด ด้วยมุมมองที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบกติกาของความสัมพันธ์เหล่านั้น แต่เป็นการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของเราเองมากกว่าด้วยมุมมองภายใต้ระบบเชิงสัญญะ เปิดโอกาสแก่การเรียนรู้ นัยยะของการสื่อสารและการสร้างความหมายที่แตกต่าง

7. อัตลักษณ์,การจัดระเบียบตนเองและการเคลื่อนไหว

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ทฤษฎีว่าด้วยการจัดระเบียบตนเอง ได้กลายมาเป็นความรู้เพื่อการเข้าใจการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมกันอย่างแพร่หลาย เพื่อความเข้าใจต่อการปรับตัวเชิงโครงสร้างและการก่อรูปใหม่ว่าสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร ในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นอัตราเร่ง ภายใต้ภาวะซับซ้อนที่เป็นพลวัต การเปลี่ยนผ่านได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมและทำนายได้ มนุษยชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ แต่ผูกพันอยู่กับการสร้างสรรค์ของกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เป็นความตั้งใจของการเติมเต็มระเบียบจากการรังสรรค์ของธรรมชาติ ดังนั้นในการก่อรูปขึ้นใหม่จากการเปลี่ยนผ่านนี้ ก็ยังคงผูกพันอยู่กับกฎเกณฑ์ของ กระบวนการแตกต่างและคัดสรรของระบบธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกัน มนุษยชาติสามารถมีสำเหนียกและเป็นผู้เล่นที่เข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นผู้กระทำ กระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นสารัตถะสำคัญของการดำรงและสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้ ระบบที่สามารถเรียนรู้ เป็นระบบที่มีความสามารถจัดระเบียบตนเองโดยการเคลื่อนเข้าหาแอ่งดึงดูด ที่จำแนกความแตกต่างระหว่างตัวระบบกับสภาพแวดล้อมCyberneticians ใช้ความพยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ทฤษฎี Metasystem Transition กฎเกณฑ์ของระบบใดระบบหนึ่ง เมื่อเกิดสภาวะที่ระเบียบที่ยึดโยงตัวมันเองให้คงอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมหนึ่งใด เกิดภาวะกวัดแกว่งที่ไม่อาจรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์เดิมให้คงอยู่ได้ ก็จักเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมไปสู่ระบบใหม่อีกระบบหนึ่ง หรือหลายๆ ระบบ ซึ่งมีแบบแผนของการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป และจากการแตกตัวเชิงโครงสร้างทฤษฎีว่าด้วยการจัดระเบียบตนเอง ถึงแม้จะมีการศึกษาค้นพบมานาน ในขณะเดียวกับกับที่แนวคิดในราวกลางศตวรรษที่ 20 ในยุคอุตสาหกรรม ที่โลกปกคลุมไปด้วยแนวความคิดแบบกลไก ทฤษฎีการจัดระเบียบตนเองไม่ได้รับความสนใจ จวบจนกระทั่งปี 1970สาระของทฤษฎีการจัดระเบียบตนเองอยู่ที่ ในโครงสร้างระบบปิด เมื่อถูกเปิดออกโดยการไหลผ่านของข้อมูลข่าวสาร พลังงานและสสาร ระบบจะสูญเสียความสมดุลจากการเพิ่มขึ้นของความไร้ระเบียบ (Entropy) ภาวะเสียสมดุลนี้ นำไปสู่การแตกตัวเชิงโครงสร้าง (dissipative structured) การเคลื่อนสู่ความสมดุลครั้งใหม่ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เป็นอิสระ ที่เคลื่อนเข้าสู่แอ่งดึงดูดอันเป็นภูมิทัศน์ที่เหมาะสม และไม่ถูกกระทำหรือสามารถควบคุมจากปัจจัยภายนอก กระบวนการผุดบังเกิดอย่างต่อเนื่องนี้ ก็คือ กระบวนการจัดระเบียบตนเองความเกี่ยวพันกันของแนวความคิดเรื่องการจัดระเบียบตนเองและอัตลักษณ์ ก็เนื่องมาจาก อัตลักษณ์ ในบางขณะและบางโอกาส ได้กลายเป็นแอ่งดึงดูด สู่การจัดระเบียบด้วยตนเองได้ด้วยภายใต้โครงสร้างของโลกยุคอุตสาหกรรม ที่เหมารวมเอาการสร้างเอกภาพในส่วนทั้งหมดเป็นทัศนะแม่แบบ อัตลักษณ์จึงเป็นเพียงส่วนประกอบที่ต้องขึ้นต่อเอกภาพในภาพรวม จวบจนกระทั่งโลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร มนุษย์ที่มีสำเหนียกตื่นรู้และยืนยันตัวตน ได้ใช้สิทธิอัตวินิจฉัย เลือกทัศนียภาพแห่งชีวิตที่เป็นเขาเอง อัตลักษณ์จึงกลับมีบทบาทที่โดดเด่นในการจำแนกตัวตนให้แตกต่างออกจากสภาพแวดล้อม ได้กลายมาเป็นสาระสำคัญประเด็นหนึ่ง ที่เป็นแอ่งดึงดูดสู่การเคลื่อนเข้าหาการรวมหมู่ในการจัดระเบียบตนเองปัจจุบัน ห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ภาวะกวัดแกว่งที่ไร้เสถียรภาพได้ก่อความรู้สึกที่สั่นคลอนไม่มั่นคง วูบหนึ่งของอารมณ์คน คือ การย้อนไปหาอดีตที่เคยดูดีและมั่นคงหากการย้อนกลับไปสู่อดีตนั้น สามารถทำให้กระจ่างในตัวตนและจำแนกตัวตนจากสิ่งครอบงำ นัยหนึ่งคือการค้นพบอัตลักษณ์ของตนเอง การค้นพบนี้จึงเป็นเงื่อนไขแก่การประกาศความเป็นไท เมื่อผนวกกับกระบวนการเรียนรู้ใน สภาพแวดล้อมปัจจุบัน อัตลักษณ์ใหม่นี้จึงเป็นแอ่งดึงดูดสู่การผุดบังเกิดของการก่อระเบียบด้วยตนเอง ความหมายในที่นี้หมายถึง

1. อัตลักษณ์ ในความหมายที่เป็นนามธรรม ก็เช่นเดียวกับคุณค่าและวัฒนธรรม ที่แฝงฝังไว้ด้วยระเบียบที่แน่นอน ภายใต้สภาพแวดล้อมใดสภาพแวดล้อมหนึ่ง อย่างเช่น อัตลักษณ์ชาติ อัตลักษณ์ชนเผ่า อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เป็นต้น

2. อัตลักษณ์ มีลักษณะที่เป็นพลวัต มีบ้างที่เปลี่ยนแปลง มีบ้างที่สูญหายไป การมองอัตลักษณ์ในสภาพที่เป็นภาวะสถิต เพียงเพราะดูดี มีเหตุผล ความดูดีและมีเหตุผลของโครงสร้างก่อนหน้า ไม่สามารถเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อการแก้ปัญหาในโครงสร้างที่เปลี่ยนผ่านไปแล้วให้สำเร็จได้ บ่อยครั้งกลับพบว่ามันเพิ่มพูนปัญหามากขึ้น ด้วยลักษณะพลวัตของอัตลักษณ์เราพบว่ามีมากที่ไม่ต่อเนื่องกับอดีต อัตลักษณ์บอกถึงสิ่งที่เป็นอยู่ ในขณะที่กระบวนการจัดระเบียบตนเองอย่างต่อเนื่องนั้น บอกถึงสิ่งที่กำลังเป็นไป3. อัตลักษณ์ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการก่อระเบียบด้วยตนเอง ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สามารถเป็นแอ่งดึงดูดสู่การก่อระเบียบได้ในสภาพการเคลื่อนไหวที่เป็นจริงภายใต้ความสับสนที่เกิดจากวิกฤต มีการกล่าวกันว่า คนไทยควรรู้ราก ซึ่งแน่นอนการย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์จากอัตลักษณ์ชาติและเผ่าพันธุ์ ย่อมไม่หมายถึงการหยุดอยู่แค่การซึมซับเอาอัตลักษณ์เหล่านั้น เป็นเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่สร้างการดำรงอยู่ หากแต่หมายถึง ความรู้ราก ได้ให้โอกาสแก่การตื่นรู้ จำแนกตนเองออกจากสิ่งครอบงำ และผสานกับการสร้างสรรค์ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน แสวงหาทัศนียภาพที่เหมาะใน โครงสร้างแห่งอนาคต (โครงสร้างแห่งอนาคต เราไม่สามารถล่วงรู้ว่ามันมีรูปลักษณ์เช่นไร แต่มีสิ่งที่สื่อถึงการทำความเข้าใจโครงสร้างแห่งอนาคตได้ จากแบบแผนของพฤติกรรมและแนวโน้ม ซึ่งก็คือเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนที่มีแบบแผนของพฤติกรรม กล่าวคือ 1. ไม่เป็นเชิงเส้น 2. มีสภาพพลวัต 3. ก่อระเบียบด้วยตัวเอง 4. โครงสร้างหลายระดับชั้น เป็นต้น) เพื่อการดำรงชีวิตและความอยู่รอดของการสืบเผ่าพันธุ์ดังนั้น จึงไม่มีที่ว่างในโครงสร้างแห่งอนาคต สำหรับการ ค้นหาอัตลักษณ์ หากแต่สิทธิอัตวินิจฉัยของปัจเจกบุคคลในฐานะของผู้เล่น ในข่ายปฏิสัมพันธ์ เขาที่ตื่นรู้เป็นผู้สร้างอัตลักษณ์ตัวตนขึ้นเองแนวความคิดใดๆ ที่ใช้ความพยายามนำเอากฎเกณฑ์, คุณค่าและอัตลักษณ์ ที่เป็นลักษณะจำเพาะของโครงสร้างก่อนหน้านี้ไปใช้ หรือพยายามปรับใช้กับโครงสร้างแห่งอนาคต ไม่เพียงไม่สามารถแก้ปัญหา หากแต่เป็นการเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นอีกเพราะว่า ในกระบวนการจัดระเบียบตนเองอย่างต่อเนื่องนั้น ทันทีที่มีผลของการผุดบังเกิด หมายถึงการมีกฎเกณฑ์ของโครงสร้างจากการผุดบังเกิดชุดใหม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันไปด้วยแนวความคิดเรื่อง อัตลักษณ์ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ในฐานะของการเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในปัจจุบันที่เด่นชัดในภาครัฐ คือ การจัดระเบียบทางสังคม เป็นการนำเอาอัตลักษณ์ในอดีตและอาศัยอำนาจรัฐในการจัดระเบียบ ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาเป็นสิ่งน่ากลัวอย่างยิ่งในส่วนการเคลื่อนไหวทางสังคม ก็มีวาทกรรมชุดใหญ่ที่ถูกผลิตขึ้น จากคำหรูดูก้าวหน้าอย่างเช่น ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิม ฯลฯ มีคำถามว่า แท้จริงแล้วเป็นวาทกรรมเพื่อการปลดปล่อยหรือเพื่อการครอบงำกันแน่ ซึ่งแน่นอนด้วยมุมมองของหลักการจัดระเบียบตนเอง ภายใต้อัตลักษณ์ตัวตนและกลุ่มที่ผ่านการคัดสรรด้วยภูมิทัศน์ที่เหมาะสม ย่อมต้องเป็นจิตวิญญาณที่เป็นไท มากกว่าที่จะต้องถูกครอบงำด้วยวาทกรรมเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง

จากhttp://www.fridaycollege.org/index.php?&obj=forum.view(cat_id=vkn,id=1)

Sunday, November 26, 2006

สัญญศาสตร์ - Semiology : การศึกษาเรื่องเครื่องหมาย - The Study of of Signs

สัญญศาสตร์ - Semiology

การศึกษาเรื่องเครื่องหมาย - The Study of of Signs

จากต้นฉบับของ Michael O'Shaughnessy and Jane Stadler, Media and Society:
An Introduction. Oxford University Press, 2002.
(translated and edited by Somkait Tangnamo)
แปลและเรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม

คำว่า Semiology ถูกรู้จักในชื่อของ Semiotics ด้วย มันเริ่มต้นในฐานะที่เป็นวิธีการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์เรื่องภาษา แต่ปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์เรื่อง"ระบบเครื่องหมายต่างๆว่ามันทำงานอย่างไร"(how all sign systems work).
มันจะสำรวจถึงหลักตรรกะและระเบียบวิธีที่อยู่เบื้องหลังการสื่อสาร และแสดงให้เราเห็นว่าจะสามารถทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบได้อย่างไร โดยผ่านวิธีการทางสัญญศาสตร์(semiotic method) รวมไปถึงสิ่งที่การสื่อสารต่างๆหมายความถึง. มันเป็นศาสตร์ที่สนใจในเรื่องของความหมาย และเอาใจใส่ในเรื่องของวิธีการต่างๆที่ความหมายได้รับการผลิตขึ้นมาและถูกส่งต่อหรือถ่ายทอด
Semiology (สัญญศาสตร์) ได้รับการนิยามในฐานะที่เป็นศาสตร์ของเรื่องเครื่องหมาย(The Science of Signs) หรือการศึกษาเรื่องเครื่องหมาย(The Study of Signs) หรือระบบเครื่องหมาย(Sign Systems). สัญญศาสตร์(Semiology)เสนอว่า การสื่อสารทั้งมวลได้วางอยู่บนรากฐานของระบบเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งทำงานโดยผ่านกฎเกณฑ์และโครงสร้างบางอย่าง
ภาษา(คำ)[language - word]เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นระบบเครื่องหมายที่มีอิทธิพลมากสุดสำหรับมนุษย์ แต่โลกของเรานี้มันเต็มไปด้วยระบบเครื่องหมายอื่นๆ - เช่น สัญญานไฟจราจร, เครื่องหมายบนท้องถนน, แถบป้ายที่คลิกไปยังที่ต่างๆบนเว็ปไซค์(navigation bars), การเรียบเรียง การตัดต่อ และแบบแผนการใช้ภาพในงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์, เสื้อผ้า, สไตล์ของทรงผม, สัญญานมือ, ระหัสมอซ(morse codes)ที่ใช้กับโทรเลข, และอื่นๆอีกมากมาย. รูปแบบทั้งหมดของสื่อคือระบบของเครื่องหมาย. ระบบทั้งหมดสามารถถูกนำมาวิเคราะห์ได้โดยใช้หลักการทางสัญญศาสตร์
สัญญศาสตร์(Semiology)ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายของคริสตศตวรรษที่ 19 ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษา. ผู้ที่สร้างมันขึ้นมาคือ Ferdinand de Saussure(Saussure 1974; Culler 1976; Gordon 1996). นับจากทศวรรษที่ 1930s เป็นต้นมา มันได้รับการพัฒนาโดย C.S.Peirce และคนอื่นๆ, โดยเฉพาะ Peirce พยายามแสวงหาเพื่อทำความเข้าใจระบบเครื่องหมายที่ไม่ใช่ภาษา(non-language sign systems)[Peirce 1958]
ระเบียบวิธีของ Saussure, Peirce และคนอื่นๆได้นำมาใช้นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเกี่ยวกับวิเคราะห์ผลผลิตทางด้านสื่อ(media peoducts)[Fiske 1990; Hall 1997; Hawkes 1977 และ 1996]. ในหนังสือของ Roland Barthes ที่ชื่อว่า Mythologies (Barthes 1973) ถือว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ "สัญญศาสตร์(Semiology)" ในช่วงต้นๆในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสื่อ(media studies) และแม้แต่ในยุคของมันเอง ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ยังคงอ่านเข้าใจได้และเป็นตำราที่สอดคล้องกับเรื่องนี้อยู่
แบบจำลองของการสื่อสารเกี่ยวกับเครื่องหมาย สามารถทำความเข้าใจได้ตามตัวอย่างข้างล่างนี้
Sender ---------- Message / sign System --------- Receiver
สารใดๆ(message), ความหมายใดๆ(meaning), สามารถสื่อสารได้โดยผ่านเครื่องหมายต่างๆและระบบของเครื่องหมาย. เครื่องหมายถือเป็นรูปลักษณ์กลางหรือสิ่งสำคัญของสัญญศาสตร์(Semiology). เครื่องหมายอันหนึ่ง มันคือสัญญะ(signal)ที่สื่อสารบางสิ่งบางอย่างกับเรา ธรรมชาติของเครื่องหมายสามารถทำความเข้าใจได้ใน 2 ทางที่คล้ายๆกัน:
1. เครื่องหมายต่างๆทำงานบนพื้นฐานที่ว่า เครื่องหมายทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือยืนยันถึงบางสิ่งบางอย่าง - เช่น ความหมาย(meaning), แนวความคิด(concept), หรือไอเดีย(idea) ในสิ่งซึ่งมันอ้างอิงถึง
2. ทุกๆเครื่องหมายมันจะประกอบด้วย Signifier และ Signified (ดังภาพประกอบต่อไป) สำหรับ Signifier มันคือรูปแบบอะไรก็ตามที่ถูกนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดความหมาย(material form is used as to convey meaning): เช่น ตัวหนังสือ, ภาพ, เสียง, และอื่นๆ. ส่วน Signified คือแนวความคิด(concept)ที่ภาพ เสียง หรือตัวหนังสือสื่อออกมา
การใช้หนทางแรกในการทำความเข้าใจธรรมชาติของเครื่องหมาย เราสามารถเห็นได้ว่าตัวอักษร d-o-g ได้สร้างคำว่า dog ขึ้นมา. การสร้างตัวอักษรหรือคำๆนี้ขึ้นมา มันได้บัญญัติเครื่องหมายที่ทำหน้าที่หรือเป็นตัวแทนไอเดียเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทเคไน(canine - คล้ายสุนัข)ที่มีสี่ขา. ไอเดียหรือแนวคิดมโนคติเกี่ยวกับ"หมา"(dog) คือสิ่งที่ Peirce เรียกว่า the referent มันคือสิ่งซึ่งเครื่องหมายดังกล่าวกล่าวกำลังอ้างถึง
Sign ------------ Signifier + Signified
การใช้วิธีการที่สองในการทำความเข้าใจเครื่องหมายต่างๆ เราสามารถแสดงภาพที่แตกต่างกันระหว่าง Signifier และ Signified ได้โดย การคิดเรื่องของเครื่องหมาย"dog"กันอีกครั้ง. Signifier คือตัวอักษร d-o-g จัดมาเรียงกันเป็นคำว่า dog (หรืออันนี้เรียกว่า signifier ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวหนังสือแล้ว อาจจะเป็นภาพก็ได้ เช่นเป็นภาพของสุนัขบางสายพันธุ์). สำหรับ Signified ก็คือไอเดียหรือมโนคติ รวมไปถึงแนวความคิดเกี่ยวกับสุนัข

Sign = dog ------------ Signifier - letter d-o-g + Signified - the concept of a dog

ตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นความต่างระหว่าง Signifier และ Signified คือ สถานการณ์ที่ชายคนหนึ่งได้มอบดอกกุหลาบให้กับหญิงสาวคนหนึ่ง การแสดงอาการเช่นนั้นสามารถถูกทำความเข้าใจได้ในฐานะที่เป็นเครื่องหมาย

ดอกกุหลาบในที่นี้คือ Signifier และสิ่งที่เป็น Signified คือ ความรักของผู้ชายคนนั้นหรือความดึงดูดใจหรือสนใจต่อหญิงสาว. ดอกกุหลาบไม่จำเป็นต้องแสดงออกถึงเรื่องความรักเสมอไป สิ่งซึ่งหมายถึงคือ อากัปกริยาดังกล่าว. เครื่องหมาย(sign)วางอยู่บนพื้นฐาน ระหัส หรือหลักเกณฑ์(code)ที่มีร่วมกัน หรือจารีต ซึ่งดอกกุหลาบสามารถแสดงถึง หรือ เป็นตัวแทน"ความรัก"

ดูเหมือนว่า อันนี้อาจจะเป็นหนทางที่ค่อยๆสลับซับซ้อนมากขึ้นของการทำความเข้าใจสาร(message) แต่มันเป็นประโยชน์มากสำหรับการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสื่อ เพราะมันได้ดึงความสนใจของเราไปสู่กระบวนการเกี่ยวกับ การทำหน้าที่เป็นตัวแทน(re-presentation - การนำเสนอใหม่อีกครั้ง)หรือ signification (การบ่งชี้ - การทำหน้าที่เครื่องหมาย)เกี่ยวกับการกระทำต่างๆของสื่อ: สารต่างๆที่สื่อ, เครื่องหมายของมัน, ที่ทำงานอยู่บนพื้นฐานของบางสิ่งบางอย่างซึ่งแสดงออกถึงบางสิ่งบางอย่าง; เครื่องหมายทั้งหมดมันรวมเอาทั้ง Signifier และ Signified เอาไว้ด้วยกัน

อันนี้ช่วยให้เราเห็นถึงโครงสร้างที่เกี่ยวพันในการส่งสารของสื่อ และเตือนเราว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นนั้น มันไม่ใช่"ความจริง"(แม้ว่ามันจะมองดูคล้ายความจริงมากก็ตาม) แต่เครื่องหมาย(sign)และ Signifier นั้นมีเป้าหมายที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนโลกของความเป็นจริง

มันมีแง่มุมหรือรูปลักษณ์มากมายเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงสัญญศาสตร์. ในการสำรวจว่า เครื่องหมายต่างๆสื่อสารกันอย่างไร สัญญศาสตร์ทำงานอย่างไร เราจะต้องโฟกัสลงไปที่ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ ซึ่งจะถูกตรวจตราลงไปในรายละเอียดเป็นข้อๆ คือ
- เครื่องหมายต่างๆ มันสื่อสารโดยผ่าน"รหัส"(กฎเกณฑ์) และ"ขนบธรรมเนียม"(codes and conventions)
- เครื่องหมายและขนบจารีตเหล่านี้ถูกปันส่วนร่วมกันในทางวัฒนธรรม
- พวกมันขึ้นอยู่กับความรู้เชิงวัฒนธรรม
- เครื่องหมายต่างๆ มันสื่อสารโดยผ่านระบบของความแตกต่าง
- เครื่องหมายต่างๆ สื่อสารโดยผ่านตัวเครื่องหมาย(denotation) และการสื่อความหมาย(connotations)

เครื่องหมาย สื่อสารโดยผ่านระหัส(กฎเกณฑ์) และขนบธรรมเนียมต่างๆ
ระบบเครื่องหมายทั้งมวลมีชุดของแก่นแกนหรือรากฐานชุดหนึ่ง ที่ได้รับการรวมกันขึ้นมาภายใต้กฎเกณฑ์, รหัส, และขนบจารีตบางอย่าง. อย่างเช่น ภาษาอังกฤษวางอยู่บนพื้นฐานตัวอักษร 26 ตัว, ซึ่งสามารถนำมารวมกันเป็น"คำๆ"และแบบแผนทางไวยากรณ์ได้. เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจระหัสหรือหลักเกณท์ที่ถูกต้องดังกล่าวเพื่อที่จะสื่อสาร: ยกตัวอย่างเช่น ตัวอักษร d-o-g คือรหัสเพื่อใช้ในการอธิบายถึงสัตว์สี่ขาประเภทหนึ่ง เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขน เลี้ยงลูกด้วยนม. ส่วนประโยคต่างๆได้มาประกอบกันตามขนบธรรมเนียมของไวยากรณ์

คำว่า"รหัส"(code-หลักเกณฑ์))และ"ขนบธรรมเนียม"(convention)คือคำกุญแจที่สำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ. สารของสื่อทั้งหมดได้ใช้"รหัส"และสื่อสารโดยผ่านขนบธรรมเนียมต่างๆ

รหัสและขนบธรรมเนียมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามีส่วนร่วมกันในทางวัฒนธรรม - พวกมันขึ้นอยู่กับความรู้เชิงวัฒนธรรม อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะระบบเครื่องหมายต่างๆจะทำงานประสบความสำเร็จได้ก็แต่เพียง การที่ผู้คนทั้งหลายต่างรู้และมีส่วนร่วมปันในความรู้เกี่ยวกับรหัสในอย่างเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษารัสเซียเป็นระบบเครื่องหมายหนึ่งที่มีรหัส หรือหลักเกณฑ์และขนบจารีตของตัวมันเอง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ถ้าหากว่าเราไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่น หรือภาษารัสเซียได้

กฎเกณฑ์เกี่ยวกับฟุตบอลของออสเตรเลีย, สมาพันธ์กีฬารักบี้, และกีฬาฟุตบอลอังกฤษ(soccer)สามารถเป็นที่เข้าใจของพวกเราได้; ในทำนองเดียวกับกับจังหวะเต้นรำแบบแทงโก้, จังหวะวอลทซ์ และชา-ชา(cha-cha) คือจังหวะเต้นรำที่จะต้องเรียนก่อนที่พวกเราจะสนุกเพลิดเพลินไปกับมัน. กิจกรรมต่างๆเหล่านี้จะเป็นที่เข้าใจก็ต่อเมื่อเราได้เรียนรู้รหัสหรือหลักเกณฑ์ของมันแล้วเท่านั้น

ภาษาที่ต่างออกไปคือตัวอย่างหนึ่งที่ดีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือขนบธรรมเนียมที่แตกต่าง ที่นำมาใช้เป็นตัวแทนหรือแสดงออกสำหรับโลกเรา. ตัวอักษร d-o-g คือเครื่องหมายในรหัสภาษาอังกฤษ. ฝรั่งเศสใช้ตัวอักษร c-h-i-e-n. ทุกๆภาษามีคำที่ต่างกันไป. เพื่อที่จะเข้าใจเครื่องหมายที่แตกต่างกันเหล่านี้คุณจะต้องร่ำเรียนรหัสหรือภาษานั้นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางวัฒนธรรมคือบางสิ่งบางอย่างที่มากไปกว่าความรู้ง่ายๆธรรมดาของสิ่งที่รหัสอันนั้นหมายถึง. มันคือการรู้สึกรู้ทราบเกี่ยวกับสิ่งต่างๆทั้งหมดที่อาจได้รับการเสนอแนะโดยรหัส. ประเด็นต่อมาเราจะลงลึกไปในรายละเอียดที่ประณีตซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้

เครื่องหมายต่างๆสื่อสารโดยผ่าน"ระบบของความแตกต่าง"
สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของ Saussure ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับภาษาก็คือ ความเข้าใจที่ว่า คำต่างๆมันไม่ได้หมายถึงสิ่งใดเลยในตัวของมันเอง. ความหมายต่างๆของมันขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า คำต่างๆคือส่วนหนึ่งของระบบของความต่างๆ(part of a system of difference): พวกมันทำหน้าที่ในเรื่องความหมายที่มีความสัมพันธ์กับคำอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น "up" ไม่ได้หมายถึงอะไรเลย เว้นแต่ว่าเราสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์ของมันกับคำและแนวคิดคำว่า "down". เราเพียงสามารถเข้าใจสิ่งที่"หมา"เป็น ในความสัมพันธ์กับความรู้ของเราเกี่ยวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ - เช่น แมว, หมาป่า, ม้า, และอื่นๆ. จากสิ่งซึ่งเรารู้ พวกมันมีความแตกต่าง

สัญญานไฟจราจรสีแดงมันไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงในตัวมันเอง; มันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันอยู่ในบริบทและรหัสของสีแดง ในฐานะที่ตรงข้ามกับไฟสีเขียวและไฟสีเหลือง เหล่านี้เราเริ่มที่จะเข้าใจหรือรู้เรื่องเกี่ยวกับมันโดยผ่านระบบหนึ่งของความแตกต่าง

เครื่องหมายต่างๆสื่อสารโดยผ่านการบ่งชี้และการสื่อความหมาย(denotations and connotations)
เครื่องหมายต่างๆนั้น มันทำงานอยู่ด้วยกัน 2 ระดับของความหมาย: นั่นคือ ระดับแรกเป็นเรื่องของความหมายบ่งชี้ และระดับที่สองคือการสื่อความหมาย

Denotation(การบ่งชี้)
ในการพิจารณาถึงสิ่งที่ตัวหนังสือมันบ่งชี้ถึงอะไร เราจะต้องวิเคราะห์มันในระดับของการอธิบายหรือพรรณา(descriptive level)โดยเฉพาะ โดยไม่ต้องค้นลงไปถึงสิ่งที่มันอาจแสดงนัยะ. มันง่ายที่จะถามคำถามขึ้นมาว่า"อะไรอยู่ที่นั่น?" อันนี้เป็นการพยายามที่จะอธิบายโดยปราศจากความคิดเห็น, การประเมินคุณค่า, หรือการตัดสินใดๆ, มันเป็นเรื่องของภาพๆหนึ่ง

ณ ระดับนี้ เครื่องหมายต่างๆใกล้เคียงกับความเป็นอิสระจากเรื่องของคุณค่าเท่าที่จะเป็นไปได้. ยกตัวอย่างเช่น ในระดับของการบ่งชี้(denotative level) "ธงชาติอเมริกันมีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยเส้นแนวนอนสีแดง สลับกับสีขาว และมีสี่เหลี่ยมที่เล็กลงมา พื้นสีเป็นสีน้ำเงินที่อยู่บนมุมซ้ายของผืนธง ภายในกรอบสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินบรรจุรูปดาวสีขาวเอาไว้ ซึ่งได้เรียงตัวกันเป็นแถวคล้ายตารางหมากรุก

Connotation(การสื่อความหมาย)
สัญญศาสตร์(semiology)เสนอว่า เครื่องหมายทั้งหมดมันจะพ่วงเอาการสื่อความหมายหรือความสัมพันธ์มากับมันด้วยชุดหนึ่ง นั่นคือ มันจะเตือนผู้ดูถึงความรู้สึก, ความเชื่อ, หรือไอเดียบางอย่าง ที่มันติดมากับ signifier. มันเป็นภารกิจของเราเมื่อต้องการวิเคราะห์ภาพต่างๆโดยวิถีทางของสัญญศาสตร์ เพื่อถามถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดของการสื่อความหมาย(connotatuion)อันนั้นว่าเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเครื่องหมายที่เฉพาะเจาะจง หรือแก่นแกนในภาพนั้นๆ

วัตถุต่างๆ, สีสรร, เสื้อผ้า, คำพูด, สไตล์การพิมพ์, แสง, มุมกล้อง, ภาษาท่าทาง, และอื่นๆสามารถที่จะพ่วงความหมายทั้งหมดไปได้

ขอให้กลับไปยังตัวอย่างเกี่ยวกับธงชาติอเมริกันที่กล่าวไว้ข้างต้น เราสามารถหมายเหตุได้ว่า ธงชาติได้ถูกทำให้เกี่ยวข้องกับ(มีการสื่อความหมายเกี่ยวกับ) เสรีภาพ และความยุติธรรม(อย่างน้อยที่สุดสำหรับคนอเมริกันส่วนใหญ่). เราอาจหมายเหตุได้ด้วยว่า รูปดาวได้ถูกนำไปสัมพันธ์กับความดีเลิศ, ชื่อเสียง, ความโด่งดัง, สวรรค์, ความฝัน, และอื่นๆ. พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินเป็นตัวแทนของท้องฟ้า ดวงดาวแต่ละดวงเป็นสิ่งแทนรัฐแต่ละรัฐในอเมริกา และดวงดาวเหล่านี้ได้ถูกรวมเข้าด้วยกัน แทนที่มันจะกระจัดกระจายในลักษณะส่งๆไปทั่วพื้นที่บนผืนธง

วิธีการที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการอรรถาธิบายลักษณะของการวิเคราะห์อันนี้ และวิธีการอันหนึ่ง คุณอาจพบโดยบังเอิญในที่อื่นๆที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์: อันนี้เสนอว่า วัตถุหรือภาพที่มีลักษณะเฉพาะต่างๆสามารถพ่วงความหมายเชิงสัญลักษณ์ไปกับมันได้. อย่างเช่น สีแดง เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์รุนแรง โทสะ อันตราย และเรื่องทางเพศในวัฒนธรรมตะวันตก (หมายเหตุในที่นี้ว่า สัญลักษณ์เป็นเรื่องเฉพาะทางวัฒนธรรม: ในประเทศจีน สีแดงสื่อความหมายถึงความโชคดีและความเจริญรุ่งเรือง รวมไปถึงความเป็นคอมมิวนิสม์)

ข้อสังเกตในที่นี้คือว่า อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์มีแนวโน้มที่จะเสนอแนะถึงบางสิ่งบางอย่างที่มีเจตนาโดยตั้งใจของผู้สร้างภาพนั้นๆขึ้นมา การสื่อความหมายจะดึงความสนใจของเราไปสู่การอ่าน ที่ทำขึ้นมาโดยผู้ดูทั้งหลาย และการสื่อความหมายเหล่านี้อาจได้รับการนำไปรวมเข้าด้วยกันกับผู้สร้างภาพนั้นๆขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว. Peirce ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับคำว่า"สัญลักษณ์"(symbolic) เป็นการเฉพาะมาก

การสื่อความหมาย(connotation)คือบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ดูหรือผู้ชมรับรู้อยู่กับภาพๆหนึ่ง การสื่อความหมายนั้นมันทำงานใน 2 ระดับด้วยกัน: นั่นคือ
1. ระดับของปัจเจก และ
2. ระดับของวัฒนธรรม

สำหรับเป้าประสงค์ของเรา เราเพียงสนใจในระดับวัฒนธรรม และวิถีทางที่การสื่อความหมายช่วยให้เรามองเห็นปฏิกริยาระหว่างเครื่องหมายและคุณค่าต่างๆของวัฒนธรมหนึ่ง แต่เราต้องการที่จะทำความเข้าใจทั้งสองระดับนี้
1. การสื่อความหมายในระดับของปัจเจก (individual connotations) ประสบการณ์ต่างๆที่เรามีในชีวิต เป็นเรื่องของปัจเจกที่ได้ก่อรูปก่อร่างสร้างวิธีการมองโลกและการตอบโต้กับโลกของเราขึ้นมา อันนี้มันทำงานในแง่มุมหรือรูปการณ์ทั้งหมดเกี่ยวกับการเป็นอยู่ของเรา รวมไปถึงการโต้ตอบของเราต่อภาพด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ดมกลิ่นกุหลาบเป็นครั้งแรก และมันเป็นเวลาเดียวกันกับการที่เธอมีประสบการณ์ที่น่ากลัว ในกาลต่อมา กลิ่นหรือการมองเห็นภาพกุหลาบอาจจะเป็นการเตือนความทรงจำ หรือทำให้เธอรู้สึกหวาดกลัวขึ้นมาได้. การมองเห็นดอกกุหลาบอาจนำพาการสื่อความหมายส่วนตัวอันนี้ต่อเนื่องไปสำหรับเด้กผู้หญิงคนดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ การให้ดอกกุหลาบกับเด็กผู้หญิงคนนี้จึงอาจสร้างความกลัวขึ้นมามากกว่าความรู้สึกหนึ่งเกี่ยวกับความซาบซึ้งในความรัก

ขณะเดียวกัน มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของการสื่อความหมายส่วนตัว(individual connotations)อันนี้ และระมัดระวังเกี่ยวกับสิ่งข้างต้น เมื่อเราทำการวิเคราะห์เรื่องของความหมาย พวกมันจะไม่เป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในเชิงสัญญศาสตร์(semiotic analysis) เพราะว่าพวกมันไม่ได้สื่อความหมายไปตามปกติ ดังที่คนอื่นๆมีส่วนร่วม(ในความหมายนั้น)

2. การสื่อความหมายเชิงวัฒนธรรม (cultural connotations) ในระดับที่สองของการสื่อความหมาย ชี้ถึงวิธีการซึ่งวัตถุที่แตกต่างกันได้พ่วงเอาความสัมพันธ์และการสื่อความหมายไปพร้อมกันกับมันด้วย ซึ่งมันได้รับการมีส่วนร่วมกันในด้านความหมายกับผู้คนจำนวนมากในวัฒนธรรมหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ของขวัญที่เป็น"ดอกกุหลาบ"ได้รับการยอมรับในเชิงวัฒนธรรมในฐานะที่ได้นำพาการสื่อความหมายที่โรแมนติคมาด้วย

การวิเคราะห์ของ John Fisk เกี่ยวกับความหมายที่ผูกติดมากับประเด็นเรื่องของยีนส์(ผ้ายีนส์หรือการเกงยีนส์)ว่า มันมีการสื่อความหมายที่แตกต่างกัน อย่างเช่น เสรีภาพ อิสรภาพ ความเป็นหนุ่มสาว และความเท่าเทียม ซึ่งถูกนำไปสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยกลุ่มต่างๆของผู้คนกับยีนส์(Fiske 1989, pp.1-21)

การรู้สึกรู้ทราบเกี่ยวกับการสื่อความหมายเหล่านี้จะทำให้เรารู้ถึงความหมายเชิงวัฒนธรรมในเรื่องของภาพ. การสื่อความหมายนั้นจะไม่เหมือนกันสำหรับวัฒนธรรมทั้งหมด ซึ่งอันนี้เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเราเสมอ ในการคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับบริบทของภาพๆหนึ่ง และความรู้ทางวัฒนธรรมที่ผู้ดูหรือผู้พบเห็นจะเข้าใจแตกต่างกันไป. และนอกจากนี้ การสื่อความหมายมักจะไม่ถูกรับรู้หรือมีส่วนร่วมโดยคนทุกคนในวัฒนธรรมหนึ่งด้วย แต่เท่าที่เรามองเห็น พวกมันต่างถูกปันความหมายโดยผู้คนจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ และพวกมันจะเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ถึงความหมายที่เป็นไปได้ของใจความทั้งหมด

เครื่องหมาย ไอคอน, อินเดคซ์, และซิมบอลลิค (Iconic, indexical, and symbolic signs)
การวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องของเครื่องหมายของ C.S. Peirce ได้นำเสนอการจัดหมวดหมู่เพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยการแบ่งเครื่องหมายออกเป็น 3 แบบด้วยกันคือ Iconic, indexical, symbolic.

เครื่องหมายไอคอน(Iconic signs) คือเครื่องหมายที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่มันบ่งถึง. ภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ทั้งหมด จัดอยู่ในจำพวก iconic เพราะว่า ภาพดังกล่าวแท้จริงแล้วมันดูเหมือนกับสิ่งที่มันอ้างอิงถึงนั่นเอง. ในทำนองเดียวกัน ภาพงานจิตรกรรมหรือแผนภาพ(diagrams)ที่ดูเหมือนกับสิ่งซึ่งมันบ่งชี้ก็จัดเป็น iconic ด้วย

เครื่องหมายอินเดคซ์(indexical signs) คือเครื่องหมายที่ชี้บ่งหรือชี้ถึงบางสิ่งบางอย่างอื่นๆ (หมายเหตุ: ดัชนีในหน้าท้ายๆของหนังสือคือสิ่งหนึ่งที่เราใช้สำหรับการชี้ ซึ่งดัชนีในหน้าหนังสือมันทำหน้าที่ให้เราย้อนกลับไปสู่หน้าที่ที่มีข้อความนั้นๆปรากฎอยู่) ยกตัวอย่างเช่น ลูกบิดประตูเป็นเครื่องหมายที่ชี้บ่งว่า ใครคนหนึ่งที่อยู่ ณ ที่นั้นต้องการที่จะเข้าไป; หรือการที่เราเห็นควันก็รู้ได้ว่ามีไฟ เป็นต้น. เทอร์โมมิเตอร์, มิเตอร์วัดความเร็ว, นาฬิกาอนาล็อค, หรือกราฟ คือตัวอย่างต่างๆที่เกี่ยวกับข้องกับดัชนี(indexes) เพราะมันเป็นตัวชี้บ่ง ชี้ถึง เพื่อบอกถึงอุณหภูมิ, ความเร็ว, เวลา, และอื่นๆนั่นเอง.

เครื่องหมายสัญลักษณ์(symbolic signs) คือเครื่องหมายที่แสดงถึงบางสิ่งบางอย่าง, แต่มันไม่ได้คล้ายคลึงกับสิ่งที่มันบ่งชี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือภาษา ซึ่งได้ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ตัวอักษร คำต่างๆ เพื่อแสดงถึงสิ่งที่ได้รับการอธิบายหรือระบุถึง. ในทำนองเดียวกัน เครื่องหมายจราจรและเครื่องหมายทางด้านคณิตศาสตร์ ปกติแล้ว มันคือสัญลักษณ์. ประเด็นที่สำคัญในที่นี้คือว่า มันไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกันระหว่างเครื่องหมายกับสัญลักษณ์; คำว่า signs (เครื่องหมาย) คือคำว่า arbitrary (ตามอำเภอใจ-คิดเอาเอง) ในคำพูดของ Saussure.

หนทางง่ายๆอันหนึ่งในการจดจำเรื่องเครื่องหมายที่แตกต่างกันเหล่านี้ก็คือ การหวนกับไปคิดถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ของคุณ. ภาพของเครื่องพิมพ์บนแถบเครื่องมือถูกเรียกว่า icon เพราะมันมองดูเหมือนกับเครื่องพิมพ์. ส่วนเคอร์เซอร์ที่เป็นรูปลูกศรที่มันปรากฎขึ้นมาเวลาที่คุณใช้เมาส์เพื่อที่จะเรียกดูเมนูหรือเลือกไฟล์มาทำงาน หรือทำหน้าที่ต่างๆ อันที่จริงแล้ว มันกำลังบ่งชี้เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นกับคุณ ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นเครื่องหมายดัชนี(indexical sign)

เสียงซึ่งบอกว่าคุณมี - email ใหม่ หรือเสียงบีฟที่คอมพิวเตอร์ทำขึ้น เมื่อคุณไปกดแป้นพิมพ์ผิด ก็คือ index ด้วยเช่นกัน เพราะมันทำหน้าที่กระตุ้นให้คุณไปตรวจสอบ email ใน in-box หรือช่องจดหมาย หรือบ่งชี้ว่าคุณได้ทำอะไรผิดพลาด

แป้นเกือบทุกตัวบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ของคุณจะมีสัญลักษณ์อยู่บนทุกแป้น ยกตัวอย่างเช่น เครื่องหมาย $ มิได้หมายถึงเรื่องเงิน หรือชี้บ่งว่า หน้านี้เป็นหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องของค่าเงินตราโดยเฉพาะ; มันเป็นสัญลักษณ์ง่ายๆอันหนึ่งที่เป็นตัวแทนเรื่องเงิน. ขึ้นอยู่กับบริบทของมัน, $ สามารถที่จะเป็นสัญลักษณ์ของความโลภ (ยกตัวอย่างเช่น ตัวการ์ตูนต่างๆ บ่อยครั้งมันถูกเขียนคู่กับเครื่องหมายดอลลาร์ในลูกตาของตัวการ์ตูน เมื่อการ์ตูนตัวนั้นไปปล้นธนาคาร, ค้นพบขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่, หรือไม่ก็ได้แจ็คพอท)

ลองมองไปรอบๆถึงตัวอย่างบ่งชี้ที่เป็นเครื่องหมาย iconic, indexical, และ symbolic เป็นไปได้มากที่ว่า คุณสามารถที่จะพบเห็นตัวอย่างต่างๆเกี่ยวกับเครื่องหมาย iconic และ symbolic ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆทางสังคมรายรอบตัวส่วนใหญ่

ภาษา, หรือรหัส, ของภาพทางสายตา (The Language, or code, of visual images)
เมื่อจะทำการวิเคราะห์ถึงความหมายที่ถูกสร้างขึ้นมาในงานภาพถ่ายหรือภาพนิ่งต่างๆ เราจะต้องพิจารณาถึงรหัสหรือโคด(code)ของการเป็นตัวแทนในเชิงเทคนิค(technical representation) และโคดของเนื้อหา(codes of content)

รหัสหรือหลักเกณฑ์ของการเป็นตัวแทนเชิงเทคนิค(Codes of technical representation)
เราสามารถวิเคราะห์ภาพถ่ายใดๆก็ตามได้โดยการตั้งคำถามดังต่อไปนี้: ภาพนั้นได้รับการถ่ายขึ้นมาอย่างไร? (How has it been photographed) คำตอบต่อคำถามข้างต้นอาจรวมถึงปัจจัยต่างๆดังนี้: มุมกล้อง, การกรอบภาพ(cropping) การโฟกัส ใช้ฟิล์มขาวดำหรือฟิล์มสี การจัดแสงเป็นอย่างไร. ทั้งหมดเหล่านี้จะให้การสนับสนุนถึงความหมายของภาพดังกล่าว

เราสามารถจ้องมองลงไปที่สิ่งเหล่านี้ทีละอย่าง และตั้งคำถามถึงสิ่งที่ได้รับการชี้แนะหรือแสดงถึง(denoted) และสิ่งที่ได้รับการสื่อความหมาย(connoted) ยกตัวอย่างเช่น มุมกล้องที่มีลักษณะเฉพาะจะมีการสื่อความหมายบางอย่างออกมา

รหัสหรือหลักเกณฑ์ของเนื้อหา(Codes of content)
เราสามารถวิเคราะห์ภาพต่างๆได้โดยถามคำถามดังต่อไปนี้: อะไรที่ถูกถ่าย? (what has been photographed?) ซึ่งคำตอบต่อคำถามดังกล่าวอาจรวมประเด็นหรือปัจจัยต่างๆดังนี้: วัตถุต่างๆ, ฉากหรือสถานที่, เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย, ภาษาท่าทาง(body language), ตำแหน่งของร่างกาย, และสีสรร. ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ช่วยสนับสนุนถึงความหมายของภาพ ดังที่มันบ่งชี้และสื่อความหมายถึงบางสิ่งบางอย่าง

หลักเกณฑ์หรือรหัสทั้งสองข้อข้างต้นเกี่ยวกับภาพตัวแทนในเชิงเทคนิค(codes of technical representation) และหลักเกณฑ์หรือรหัสเกี่ยวกับเนื้อหา(codes of content)ต้องการการพิจารณา เมื่อต้องกระทำการวิเคราะห์ออกมาเป็นใจความเรื่องราว(textual analysis)เกี่ยวกับภาพต่างๆ. เราจะต้องถามว่า ปัจจัยเหล่านี้ในแต่ละอย่างมันให้การสนับสนุนอย่างไร, ในฐานที่เป็น signs หรือ signifier, ต่อความหมายเกี่ยวกับใจความ(เรื่องราว)

มันยังมีเรื่องของสัญญศาสตร์อื่นๆอีกมาก และคุณสามารถสำรวจเรื่องพวกนี้ได้โดยผ่านการอ่านเพิ่มเติมในที่ต่างๆมากขึ้น แต่ข้อมูลที่ให้มาข้างต้นทั้งหมดตามที่วางเอาไว้เป็นข้อๆ จะช่วยคุณได้มากพอที่จะเริ่มต้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ภาพต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจถึงข้อใหญ่ใจความหรือเรื่องราวต่างๆที่ภาพทั้งหลายนำเสนอ

หมายเหตุ: ข้อมูลต้นฉบับที่นำมาแปลนี้ผิดพลาดบางอย่าง ดังคำชี้แจงของ Dr. Rebecca Zorach ซึ่งส่ง mail มาถึงดังนี้...

For your translation, please note that in the Semiology chapter they make a mistake about the approximate date of C.S. Peirce's work; he was a contemporary of Saussure, who died around the same time, NOT someone who worked "From the 1930s onwards"!!!


จาก http://www.midnightuniv.org